มารู้จักกับ Affinity Photo

ในวงการตกแต่งภาพหรือวงการถ่ายภาพ โปรแกรมที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุด ก็ไม่พ้น Adobe Lightroom และ  Adobe Photoshop ส่วนโปรแกรมตัวอื่นๆ ก็สอดแทรกขึ้นมาได้ยากเพราะ Adobe เขาครองตลาดมายาวนานแล้ว แต่มันไม่ได้หมายความว่า โปรแกรมอื่นๆ มันจะไม่ดีไม่ยอดเยี่ยมเท่ากับเจ้าตลาด ซึ่งโปรแกรมเจ้าอื่นๆ มีทั้งที่มีความสามารถยอดเยี่ยมอยู่มาก เพียงแต่ผู้ใช้อาจไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย และไม่อยากจะเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมตัวอื่นจากโปรแกรมที่ตัวเองคุ้นเคยอยู่แล้ว และไม่อยากจะเริ่มต้นเรียนรู้โปรแกรมใหม่ๆ แต่ปัจจุบันผู้ใช้บางคนก็เริ่มหาโปรแกรมตัวอื่นๆ เข้ามาแทนที่กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่ Adobe ได้เปลี่ยนระบบการซื้อขายโปรแกรมมาเป็นระบบ subscription หรือการเช่าโปรแกรม โดยใช้กลยุทธชูราคาต่ำที่ผู้ใช้มีกำลังซื้อหามาใช้ได้ อย่างเช่น Photography Plan ของ Adobe สามารถใช้โปรแกรม Photoshop + Lightroom + Cloud Storage 20GB ในราคาเริ่มต้นขั้นต่ำเดือนละ 356 บาท ซึ่งก็ไม่ต่างจากราคาค่าใช้โทรศัพท์มือถือหรือถูกกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ปริมาณผู้ใช้ซอฟแวร์เถื่อนลดลง เพราะราคาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มีราคาลดลง  ซึ่ง Adobe เองก็มีผลประกอบการสูงขึ้นมากมายจากการใช้ระบบ subcription เรียกว่าไม่ต้องจ่ายเงินค่าซื้อโปรแกรม Adobe ครั้งละเป็นหมื่นๆ บาท
อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่มีแต่ผลบวกสำหรับ Adobe แต่มีผลกระทบเช่นกัน ผู้ใช้บางคนเห็นว่า มองเผินๆ มันก็ถูก แต่ลองมองในระยะยาวมันแพงอยู่ดี ค่าเช่าซอฟแวร์ตกปีละ 4,272 บาท ถ้าไม่ต่ออายุหลังครบกำหนดตามสัญญา โปรแกรมก็ใช้ไม่ได้ทันที โดยเฉพาะ Photoshop ส่วน Lightroom ใช้ต่อไปได้ แต่ไม่สามารถใช้โหมด Develop ได้ คือ แต่งรูปไม่ได้อีกต่อไป ถ้าใช้ไปหลายๆ ปี มันก็ราคาหลายหมื่นอยู่ดี ยิ่งเป็นผู้ใช้สมัครเล่น คือ ไม่ได้หารายได้จากการแต่งภาพหรือการถ่ายภาพ มันก็เข้าเนื้อไปเรื่อยๆ หรือแม้แต่มืออาชีพ ก็ต้องมาคำนวณค่าใช้จ่าย เพราะค่าซอฟต์แวร์ก็คือต้นทุนอย่างหนึ่ง
ดังนั้น สถานการณ์อย่างนี้มันทำให้เกิดโอกาสแก่โปรแกรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา โดยเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ที่ไม่ต้องการระบบ subscription เสนอราคาที่ถูกลง หรือบางเจ้าก็เสนอขายโปรแกรมทั้ง 2 รูปแบบ คือ ซื้อขาดหรือเช่าก็ได้
Affinity Photo คือโปรแกรมหนึ่งที่ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับผู้ใช้ โดยเสนอขายโปรแกรมแบบระบบดั้งเดิม คือ ซื้อขาด และในราคาถูก ($50 หรือ 1,500 บาทโดยโปรแกรมตัวนี้สามารถใช้แทนโปรแกรม Photoshop ประสิทธิภาพความสามารถไม่แพ้ Photoshop  ซึ่งปกติชุดโปรแกรม Photoshop นั้น จะมีโปรแกรม Adobe Camera Raw และ  Adobe Bridge รวมอยู่ด้วย ในขณะที่  Affinity Photo นั้น มีฟังก์ชั่นการจัดการไฟล์ Raw อยู่ในตัวโปรแกรมอยู่แล่ว เพียงแต่ไม่มีฟังก์ชั่นแบบเดียวกับ Bridge คือ ฟังก์ชั่นที่ทำหน้าที่เป็น Image Browser 
Affinity Photo ทำได้เกือบทุกอย่างที่ Photoshop ทำได้ในการตกแต่งภาพทั้งไฟล์ Raw และไฟล์อื่นๆ เช่น JPG TIFF PNG สร้างภาพพาโนรามาได้ ทำ focus stacking ได้ สร้างภาพ HDR ได้ ทำ digital painting ได้ save PSD file ได้ สร้าง layer ได้ เป็นต้น โปรแกรมมีทั้งเวอร์ชั่น Mac Windows และ iPad
วัตถุประสงค์ของข้อเขียนนี้ ไม่ใช่การสอนวิธีการใช้โปรแกรม และไม่ใช่การมาพรรณนาว่าโปรแกรมมันทำอะไรได้บ้างและทำอย่างไร (ซึ่งอย่างนั้นก็ไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ของผู้ผลิตที่ Link นี้) แต่ในข้อเขียนนี้เป็นเพียงแต่การเป็นแนะนำโปรแกรมว่า หน้าตาของโปรแกรม หรือ User Interface มันเป็นอย่างไร มีเมนูสำคัญๆ อะไร บ้าง ถ้าผู้อ่านที่เคยใช้งาน Photoshop มาแล้ว ข้อมูลที่ผมจะนำเสนอนี้ ก็พอมองออกได้หละครับ ว่ามันใช้งานเทียบกับ Photoshop แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง วิธีการใช้งานจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน เรียกว่าเทียบดูแล้ว ก็น่าจะเข้าใจครับ 
User Interface
User Interface ของโปรแกรม Affinity Photo ที่ผมแสดงให้เห็นนี้เป็นเวอร์ชั่น Mac ซึ่งเวอร์ชั่น Windows ก็ต่างจากนี้ไม่มากนัก ซึ่งขออธิบายสั้นๆ ตามหมายเลขสีแดงที่ปรากฎอยู่ในภาพ
1. Persona
Persona คำนี้หมายถึง mode การใช้งาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ 1.) Photo Persona  2.) Liquify Persona  3. Develop Persona  4.) Tone Mapping Persona และ 5.) Export Persona  ดังภาพด้านล่าง
 
Icon ของ Persona เรียงจากซ้ายไปขวา ดังนี้
1.) Photo Persona – โหมดตกแต่งไฟล์ภาพทุกชนิด ยกเว้น ไฟล์ Raw ปกติ Photo Persona เป็นโหมด default ของโปรแกรม
2.) Liquify Persona – โหมดปรับแต่งภาพในลักษณะเปลี่ยนสรีระหรือบุคลิกหน้าตาของบุคคลหรือสัตว์สิ่งของ เช่น ปรับภาพแมวหรือสุนัขให้ยิ้ม เปลี่ยนตาให้โตขึ้นมากแค่ไหนก็ได้ ทำหน้าบุคคลให้เรียว ปรับขนาดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย  เป็นต้น
3.) Develop Persona – โหมดปรับแต่งภาพไฟล์ Raw ซึ่งถ้าเราเปิดไฟล์ Raw ในโปรแกรมนี้ โปรแกรมก็จะเข้าสู่ Develop Persona ให้โดยอัตโนมัติ
4.) Tone Mapping Persona – เป็นวิธีการทำ Tone mapping สำหรับภาพ HDR (High Dynamic Range)
5.) Export Persona โหมดสำหรับการ export ภาพหรือเฉพาะบางส่วนของภาพ หรือเฉพาะ layer ใด layer หนึ่งของภาพ หรือ slice ของภาพ หรือจะกำหนด preset ของการ export เช่น การใส่หรือไม่ใส่รายละเอียดบางประการของภาพ เช่น metadata หรือ colour profile อะไรเหล่านี้  (แต่จริงๆ แล้ว การ export ภาพที่แต่งเสร็จแล้ว โดยทั่วๆไปใช้คำสั่ง File/Export จะสะดวกกว่า)
 

อนึ่ง ในการใช้ Develop Person หลังจากที่เราปรับแต่งภาพไฟล์ Raw แล้ว ต้องคลิกเลือก Develop ที่ปรากฎตรงมุมซ้ายด้านบน เพื่อบันทึกสิ่งที่เราปรับแต่ง แล้วโปรแกรมจะนำเราเข้าสู่ Photo Persona โดยอัตโนมัติ และหลังจากเราปรับแต่งภาพใน Photo Persona แล้ว เราสามารถเลือก Save/Save as หรือ File/Export  ถ้าเลือก Save หมายถึงไฟล์จะถูกบันทึกในฟอร์แมตเดิมของไฟล์นั้น (ยกเว้นไฟล์ Raw ต้องคลิกเลือก Develop/Cancel เท่านั้น) ส่วน Save as  ไฟล์จะถูกบันทึกในฟอร์แมต afphoto ซึ่งฟอร์แมตนี้โปรแกรมอื่นๆ อ่านหรือแสดงผลไม่ได้นะครับ แต่มีโปรแกรมบางตัวที่แสดง thumbnail ของไฟล์ afphoto ได้ เช่น โปรแกรมที่ผมใช้อยู่ คือ ACDSee Photo Studio for Mac หรือ Neofinder แต่มีเงื่อนไขว่า ในคอมพิวเตอร์จะต้องมีโปรแกรม Affinity Photo ติดตั้งอยู่ก่อน ซึ่งการบันทึกไฟล์เป็นฟอร์แมต afphoto นั้น มีข้อดีคือ สิ่งที่เราใช้แต่งภาพทั้งหมด ไม่ว่า Layer, Mask หรือ Filter ยังคงเก็บอยู่ในไฟล์นี้  ส่วนการ Export ไฟล์ ก็สามารถทำได้หลายฟอร์แมตครับ ตามที่แสดงให้เห็นในภาพสุดท้ายของบทความนี้

2. Menu Bar
เมนูบาร์นี้เป็นการรวบรวมคำสั่งและ option ต่างๆ  ดังภาพด้านล่างนี้
3. Toolbar
Toolbar เป็นแถบที่รวบรวม icon ที่เป็นเครื่องมือต่างๆ ในการใช้งานของโปรแกรม ซึ่ง icon ต่างๆ เหล่านี้จะแปรเปลี่ยนไปตาม Persona ที่ใช้ ไม่ได้เป็น icon ที่ตายตัวเหมือนกันแต่อย่างใด ดังตัวอย่างภาพด้านล่าง เป็น Toolbar ของ Photo Persona (ขอตัดภาพ Persona icon ออกไป เนื่องจากได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว)
4. Context Toolbar
บาร์แสดงส่วนขยายเพิ่มเติม option ของเครื่องมือเฉพาะที่เราเลือกใช้งาน ภาพตัวอย่างด้านล่าง เมื่อเราใช้ Text Tool เพื่อจะใส่ตัวอักษรลงบนภาพ Context Toolbar ของ Text Tool ก็จะแสดง option สำหรับ text ให้เลือก
5. Tool Panel
เครื่องมือต่างๆ บน Tool Panel จะแสดงไม่เหมือนกันในแต่ละ Persona ถ้าใครใช้ Photoshop หรือโปรแกรมแต่งภาพอื่นๆ  Tool เหล่านี้จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ค่อนข้างเป็นสากล  ซึ่งในโปรแกรม Affinity Photo เราสามารถ customize tool ให้เพิ่มหรือลดจำนวนได้ หรือ จะให้แสดงแบบ 2 แถว ดังภาพข้างล่างก็ได้
6. Studio Panels
เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องช่วยงานต่างๆ ในการแต่งภาพที่ปรากฏบน Studio Panels นี้มีหลากหลาย ถ้าจะสาธยายก็คงมีรายละเอียดมากเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นเขียนเป็นหนังสือคู่มือการใช้งาน ผมจะยกตัวอย่างแสดงเป็นภาพก็แล้วกัน ผู้ใช้โปรแกรมแต่งภาพอื่นๆ มาก่อน เห็นแล้วก็น่าจะเข้าใจได้ว่าจะใช้งานแบบใด โดย Studio Panels ประกอบไปด้วย Panel ย่อยๆ อีกหลาย Panel ดังภาพด้านล่าง ซึ่งผมจะยกมาแสดงเฉพาะบาง Panel ในโหมด Photo Persona พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น
– Histogram Panel
– Colour Panel
– Brushes Panel
– Adjustment Panel
– Layers Panel
– Effects Panel
– Styles Panel
นอกจากนี้ ขอเพิ่มเติมภาพ Studio Panels ในโหมด Develop Person พอให้ดูเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย ดังนี้
– Basic Panel
– Lens Panel
– Tones Panel
ภาพตัวอย่าง Preset Panel ในโหมด Tone Mapping Persona
ขอปิดท้ายด้วยภาพ Dialog box การ export ไฟล์ โดยใช้คำสั่ง File/Export ซึ่งจะเห็นได้ว่า การ export ไฟล์นั้น ทำได้หลาย format ตั้งแต่ PNG JPG GIF TIFF PSD PDF SVG EPS EXR HDR และ TGA