การใช้งานโปรแกรม Olympus Workspace

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา โอลิมปัสได้เปิดตัวกล้อง OM-D E-M1X ตัวใหม่ล่าสุดของค่ายนี้ พร้อมๆ กัน ก็ได้เปิดตัวโปรแกรมบริหารจัดการไฟล์และตกแต่งภาพตัวใหม่ของโอลิมปัสเอง คือ Olympus Workspace ซึ่งมาแทนที่โปรแกรม Olympus Viewer 3 สำหรับผู้ที่ใช้กล้องโอลิมปัส ซึ่งโปรแกรม Olympus Viewer 3 นั้น ผมก็เคยติดตั้งไว้ แต่ไม่เคยใช้ เพราะมันช้ามากๆ ในขณะที่ Olympus Workspace ติดตั้งดูแล้ว ทำงานเร็วกว่า
 

ในฐานะเป็นผู้ใช้กล้องโอลิมปัสคนหนึ่ง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับบริษัทโอลิมปัสแต่อย่างใด เพียงแต่จะขอแนะนำให้รู้จักกับโปรแกรม Olympus Workspace พอสังเขป ในฐานะผู้ใช้ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น อาจมีคนสงสัยว่า แล้วผมจะได้อะไรจากการมานั่งเขียนเรื่องนี้  ได้สิครับ โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมใหม่ ผมเองก็ยังต้องเรียนรู้วิธีใช้งานจากโปรแกรม หรือ application ตัวนี้ อ่านคู่มือเพียงอย่างเดียว มันช่วยไม่ได้มากเต็มที่ แต่การอ่านแล้วเขียนบันทึกสรุปการใช้งานไว้ และต้องทดลองใช้งานจริงๆ ด้วย มันก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง แล้วยังเผื่อแผ่ความรู้ให้ผู้ประสงค์จะใช้งานโปรแกรมได้ทราบข้อมูลไปด้วยเช่นกัน 

 
โปรแกรมตัวนี้ทำงานได้ทั้งบน Windows (Windows 7 ขึ้นไป) และบน Mac (OS X v10.9 ขึ้นไป) อ่านไฟล์ภาพนิ่ง  Jpeg และ TIFF และไฟล์ Raw  ของโอลิมปัสเอง คือ ไฟล์นามสกุล ORF/ORI  ย้ำนะครับ อ่านไฟล์ Raw ของโอลิมปัสเองเท่านั้น ไฟล์ Raw ค่ายอื่น โปรแกรมนี้ไม่รองรับ รวมทั้งไฟล์ DNG ด้วย สำหรับไฟล์วีดีโอ นั้น ก็รองรับไฟล์นามสกุล mov mp4 และ avi   ส่วนไฟล์เสียง โปรแกรมรองรับไฟล์นามสกุล wav  mp3 และ wma
 
หน้าหลักของ Olympus Workspace

เนื่องจากผมใช้ Mac ฉะนั้น หน้าตาของโปรแกรมบน Mac กับ Windows จะต่างกันเล็กน้อย  ภาพเมื่อเปิดใช้งาน


 

 
(ภาพที่ 1)
                                               
1 =  Tool Bar
2 =  Folder (และสร้าง shortcuts ได้ด้วย)
3 =  Thumbnails
4 =  Status Bar

ในส่วนของ Tool  Bar เริ่มจากด้านซ้ายของหน้าต่างหลัก ดังภาพที่ 2
 
                                              (ภาพที่ 2) 
                                           
1  =  Import (ภาพจากกล้องโดยตรงหรือผ่าน Wifi และจากโฟลเดอร์อื่น)
2  =  Export
3  =  Time Lapse Movie
4  =  Panorama
5  =  Print
6  =  Slide Show
7  =  Update Camera
 
ชุดคำสั่งบนส่วนกลางของหน้าหลัก กำหนดมุมมองแบบต่างๆ ของภาพที่จะแสดง
 
(ภาพที่ 3) 
 
1  =  List of Thumbnails
2  =  Image: Top
3  =  Image: Right
4  =  Float View Window
5  =  Full Screen
 
และชุดสุดท้ายที่อยู่ด้านขวาสุดของหน้าหลัก
 
                                            (ภาพที่ 4)
1  =  Collection
2  =  Filter
3  =  Properties
4  =  Edit
5  =  History
 
ในการใช้งานโปรแกรม เราจะเริ่มกันตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือ การ import ไฟล์ภาพเข้าสู่โปรแกรม โดยนำภาพจากกล้องโดยตรงเข้าสู่โปรแกรม หรือจากกล้องแต่ผ่าน Wifi และจากแหล่งอื่น เช่น จาก SD การ์ดของกล้อง)
 
ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจก่อนครับว่า  การ import ไม่ใช่การนำไฟล์เข้าสู่ระบบ database ในรูปแบบ catalog อย่างเช่นใน Adobe Lightroom หน้าต่างหลักของโปรแกรม Olympus Workspce นี้ เป็นการทำงานแบบ Browser คือ คลิกเลือกโฟลเดอร์ใดที่มีไฟล์ภาพ โปรแกรมก็จะแสดงภาพจากโฟลเดอร์นั้น  การ import เป็นเพียงการ copy หรือ ingest ไฟล์ภาพไม่ว่าจากกล้องหรือ SD Card ลงในคอมพิวเตอร์ แต่ตัวโปรแกรมเองก็มีระบบ database ของตัวเองที่จะบันทึกข้อมูลการปฏิบัติการ (operation data) ไว้ในตัวระบบของมันเองด้วย
 
โดยส่วนตัว ผมไม่นิยมการ import ไฟล์ภาพจากกล้องโดยตรงเข้าสู่คอมพิวเตอร์โดยใช้วิธีต่อสาย USB จากกล้องเข้าคอมพิวเตอร์ แต่จะใช้วิธีถอดเอา SD Card จากกล้อง แล้วนำเข้าคอมพิวเตอร์ผ่าน Card Reader ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแค่กำหนดว่าเราจะเก็บไฟล์ของเราไปไว้ในโฟลเดอร์ใด 
 
แต่อย่างไรก็ดี หากเปิดใช้โปรแกรมครั้งแรกหลังจากติดตั้ง และได้ถ่ายวีดีโอไว้ด้วย จำเป็นต้อง import ผ่านกล้องไปก่อนในครั้งแรก และก็ครั้งเดียว ไม่งั้นโปรแกรมจะไม่สามารถแสดงไฟล์วีดีโอจากกล้องโอลิมปัสได้ ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้กันในตอนที่เกี่ยวกับไฟล์วีดีโอต่อไป ส่วนไฟล์ภาพไม่เกี่ยวนะครับ ไม่จำเป็นต้อง import ผ่านกล้อง หรือเชื่อมต่อระหว่างกล้องกับคอมพิวเตอร์
 
กระบวนการทำงาน  (work flow) เริ่มจากการ import ไฟล์ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน เลือกโฟลเดอร์จาก SD Card  แล้วคลิกฟังก์ชั่น import ที่ Tool Bar แล้วเลือก Import from Sepecified Location โปรแกรมจะแสดงกล่องข้อความ ให้เราเลือก หลังจากคลิกเลือกโฟลเดอร์จาก SD Card แล้ว ไฟล์ทั้งหมดก็จะแสดงในหน้าต่างหลัก และที่ด้านขวาของหน้าต่างหลักจะปรากฏ option ของ Import Destination ต่างๆ ให้เลือกได้ ดังภาพด้านล่าง

 

(ภาพที่ 5)
 
ถ้าคลิกเลือก Advance Settings ก็จะมี option ให้เลือกเปลี่ยนชื่อไฟล์หลังจาก import แล้ว และเพิ่มข้อมูล IPTC ได้ด้วย ดังภาพด้านล่าง
 
                                          (ภาพที่ 6)
 
ถ้าเราคลิก Add IPTC information เราก็สามารถเลือกคลิก IPTC information Edit ต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้สามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ถ่ายภาพ ข้อความลิขสิทธิ์ ใส่ Keywords ใส่ข้อมูล Categories หากต้องการ และ Origin ข้อมูลของภาพเช่น ถ่ายภาพนี้ที่ใด ประเทศอะะไร เป็นต้น ดังภาพข้างล่าง
 
                                       (ภาพที่ 7)
 
เมื่อใส่ข้อมูลตามที่ต้องการแล้ว โปรแกรมจะนำกลับไปสู่หน้าต่างหลักสำหรับการ import ภาพ แล้วเราก็คลิก Import all images  ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการในการ import
 
การจัดการกับไฟล์หลังจาก import แล้ว ผมขอแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นเรื่องการจัดการไฟล์ และส่วนหลังเป็นเรื่องการตกแต่งภาพ หรือ post processing
 
การจัดการเกี่ยวกับไฟล์ภาพ
 
Rating และ Color Mark
การให้ Rating หรือการให้ ‘ดาว’ กับไฟล์ภาพ  ส่วน Color Mark คือกำหนด label สีให้กับไฟล์ภาพ ประโยชน์เพื่อการให้ความสำคัญกับภาพ หรือเพื่อแบ่งแยกภาพหรือแบ่งประเภทในลักษณะที่เราต้องการ โดยคลิกเลือกภาพที่เราต้องการ แล้วคลิกเลือกดาวหรือ label สี ที่เราต้องการตรงด้านล่างของหน้าต่างหลักของโปรแกรม ดังภาพข้างล่างนี้
 
                                            (ภาพที่ 8)
 
1  =  Selection
2  =  Rating
3  =  Color Mark
 
จากภาพที่ 8 ขออธิบายเฉพาะหมายเลข 1 Selection เป็นการเลือกไฟล์ภาพว่าจะจัดกลุ่มอยู่ใน Selection A หรือ Selection B หรืออยู่ทั้ง 2 กลุ่มก็ได้ โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จัดเป็น Virtual Collection ซึ่งมีสถานะชั่วคราว หากเราปิดโปรแกรม Olympus Workspace เมื่อใด  Virtual Collection นี้ก็จะหายไปทันที มันจึงเปรียบเสมือน Collection ชั่วคราวเท่านั้น เป็นการแบ่งกลุ่มของภาพอย่างกว้างๆ ในระหว่างที่ทำงานกับโปรแกรมนี้ ส่วนจะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ก็ลองพิจารณาดูเองนะครับ 
 
Collection
หากต้องการสร้าง Collection จริงๆ ที่ไม่ใช่ Virtual Collection ต้องคลิกเลือก icon Collection (ดูภาพที่ 4) ก่อน ก็จะปรากฏกล่องข้อความ Collection ขึ้นมา ดังภาพข้างล่าง (ภาพที่ 9) และมีตัวเลือกเป็น icon 4 ตัว (ในวงรีสีแดง)  คือ  NEW เพื่อสร้าง Collection  และ icon ที่มีเครื่องหมาย + คือ การเพิ่มภาพนั้นเข้าไปใน Collection  ส่วนเครื่องหมายถังขยะ คือ ลบ Collection (ไฟล์ภาพไม่ได้ถูกลบแต่อย่างใด) และ icon ตัวสุดท้าย เป็นการกำหนดให้กล่องข้อความ Collection นี้ไปวางอยู่ทางด้านซ้ายของหน้าต่างหลักของโปรแกรม กล่องข้อความนี้เราลากออกมาทำงานในลักษณะ floating ได้
 
                                                  (ภาพที่ 9)                                         
 




















ตัวอย่างภาพข้างบน ผมทดลองสร้าง Collection ชื่อ Food & Fruits แล้ว register ภาพ หรือนำภาพเข้าสู่ Collection จำนวน 3 ภาพ ซึ่งการเพิ่มภาพเข้า Collection นั้น นอกเหนือจากวิธีการที่กล่าวมาแล้ว เรายังสามารถคลิกขวาที่ภาพที่เราต้องการนำเข้า Collection แล้วเลือกคำสั่ง Add to Collection   ส่วนถ้าต้องการนำภาพออกจาก  Collection ก็คลิกขวาที่ภาพใน  Collection แล้วเลือก Remove images from Collection
 
อนึ่ง Collection ในโปรแกรมนี้ เราไม่สามารถสร้าง Collection ย่อยภายใต้ Collection  หรือที่เรียกว่า nested collection แบบใน Adobe Lightroom ได้ เป็นเพียง Collection ธรรมดาแบบใน Adobe Bridge ซึ่งก็น่าเสียดายไม่น้อยที่ทำไม่ได้
 
Filter
การค้นหาโดยการแบ่งประเภทของไฟล์ ที่ Tool Bar (ภาพที่ 4)  มีไอคอน Filter อยู่ ถ้าคลิก Filter เราก็สามารถค้นหาไฟล์โดยเป็นการค้นหาแบบแยกประเภท ดูภาพด้านล่าง
 
                                          (ภาพที่ 10)
 
โดยเราสามารถสั่งให้โปรแกรมแสดงเฉพาะไฟล์ที่มีดาวจำนวนกี่ดวง เฉพาะไฟล์ที่มี Color Mark ตามสีต่างๆ หรือให้แสดงเฉพาะ File Format เฉพาะภาพถ่าย เฉพาะไฟล์ JPEG เฉพาะไฟล์ RAW และเฉพาะไฟล์ Movie และมี option ให้ปิด Filter เมื่อเปลี่ยน Folder  
 
ข้อสังเกต ด้านบนมุมขวา มีปุ่มเปิด-ปิด Filter อยู่ด้วย ถ้าไม่คลิกปิด และไม่ได้ติ๊กเลือก Turn off filter when switching folders  เจ้าตัว Filter ยังทำงานอยู่นะครับ มันจะแสดงเฉพาะไฟล์ที่กำหนดไว้ใน Filter เท่านั้น
 
Search
ส่วนการค้นหาไฟล์ (Search) แบบธรรมดา ก็ทำได้เช่นกัน โดยไปที่ Menu Bar เลือก Edit แล้วก็เลือก Find ก็จะปรากฏกล่องข้อความ ดังภาพข้างล่าง ซึ่งสามารถตั้งค่าการค้นหาตามที่ต้องการได้  ว่าจะสืบค้นจากไหน ระหว่างวันใด กล้อง(โอลิมปัส) รุ่นใด เลนส์อะไร ระยะเท่าไหร่ ชัตเตอร์สปีดเท่าไหร่ และค่า F เท่าไหร่
 
                                       (ภาพที่ 11)
 
ไฟล์วีดีโอ
อย่างที่เขียนไว้ตอนต้น Olympus Workspace สามารถอ่านไฟล์วีดีโอนามสกุล Mov/Mp4/Avi ได้ แต่มันมีขั้นตอนสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง โปรแกรมมันไม่เล่นไฟล์วีดีโอ ต้องต่อกล้องของเราเข้ากับคอมพิวเตอร์ครั้งหนึ่งก่อน หลังจากนั้น จึงจะดูไฟล์วีดีโอได้ และไม่ต้องต่อเชื่อมระหว่างกล้องกับคอมพิวเตอร์อีกต่อไป
 
(ภาพที่ 12)
 
มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ไฟล์วีดีโอที่ผ่านการ render แล้ว ไม่ว่าจากโปรแกรมใดก็ตาม สามารถดูไฟล์วีดีโอได้ แม้ว่ายังไม่ผ่านขั้นตอนการเชื่อมต่อระหว่างกล้องโอลิมปัสกับคอมพิวเตอร์  ส่วนไฟล์วีดีโอจากกล้องยี่ห้ออื่น ผมทดลองดูแล้วกับไฟล์วีดีโอจากกล้อง Nikon ปรากฏว่าเปิดดูไม่ได้ครับ
 
เมื่อเราเชื่อมต่อกล้องโอลิมปัสกับคอมพิวเตอร์ ดูที่จอ LCD ของกล้อง จะมี option ให้เลือก ต้องเลือก option Storage ที่กล้อง แล้วเปิดโปรแกรม Olympus Workspace โปรแกรมจะมองเห็นไฟล์ใน SD card ในกล้อง ลองเล่นไฟล์ดู ก็เล่นได้ไม่มีปัญหา ก็เลย eject SD card ผลก็คือ ไฟล์วีดีโอที่ถ่ายมาจากกล้องโอลิมปัสใช้งานได้ แต่ผมมีขัอสังเกตว่า ไฟล์วีดีโอจากกล้อง E-M1 Mark I และ Mark II ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ผมเคยมีกล้อง E-M5 (Mark I) แล้วลองเปิดไฟล์วีดีโอจากกล้อง E-M5 (Mark I) ปรากฏว่าเปิดดูไม่ได้ครับ จึงไม่แน่ใจว่าโปรแกรมตัวนี้มันรองรับไฟล์วีดีโอจากกล้องโอลิมปัสรุ่นเก่าๆ หรือไม่ หรือผมทำอะไรผิดขั้นตอนไป โปรแกรมจึงอ่านไฟล์วีดีโอดังกล่าวไม่ได้
 
หน้าต่างการเล่นไฟล์วีดีโอด้วยโปรแกรม Olympus Workspace ดูภาพด้านล่าง

 

                                          (ภาพที่ 13)      

โปรแกรมตัวนี้สามารถตัดต่อวีดีโอได้ แต่ความสามารถของมันค่อนข้างน้อย อยู่ในระดับ basic มากๆ ตัวผมเองไม่เสียเวลามาตัดต่อวีดีโอผ่านโปรแกรมตัวนี้ ไปใช้โปรแกรมตัดต่อวีดีโอโดยตรงดีกว่า
 
การปรับแต่งโปรแกรม (Settings)
Option คลิก icon ฟันเฟือง Menu Title หรือเลือก Option ที่ Tool Menu ในกรณีของ Windows  ส่วนเครื่อง Mac เช่นเดียวกัน คลิก icon ฟันเฟือง ที่ Tool Bar หรือเลือก Options จากเมนู Workspace
 
Settings ของโปรแกรมทำได้ตั้งแต่ การกำหนด Database Location การกำหนดให้ใช้จอ Monitor หลายตัว การแก้ไขข้อมูล IPTC การกำหนดสีของ background ในพื้นที่ Thumbnail  การแสดงรายละเอียดของไฟล์ การกำหนดชื่อโปรแกรมภายนอกสำหรับการตกแต่งไฟล์ภาพและไฟล์วีดีโอ การจัดการสีสำหรับ Monitor และ  Printer และสุดท้ายการจัดการเกี่ยวกับ GPU
 
ภาพด้านล่าง เป็นตัวอย่างการกำหนดให้ใช้โปรแกรมอื่นโดยการ register application สำหรับการตกแต่งไฟล์ภาพและไฟล์วีดีโอ ซึ่งผมเลือกใช้ Affinity Photo สำหรับภาพ และ Davinci Resolve สำหรับวีดีโอ
 
                                       (ภาพที่ 14)                                         




















 
นอกจากนี้ ที่ View Menu สามารถ Customize Tool Bar ได้ ว่าจะให้แสดงปุ่มการทำงานปุ่มใด้บ้างที่ Tool Bar
 
การตกแต่งภาพ
การตกแต่งภาพ หรือกระบวนการ post processing ทำได้ตั้งแต่ ปรับค่าแสง ปรับความเข้มของแสง Crop ภาพ ปรับ White Balance ฯลฯ ผมไม่อาจจะยกตัวอย่างมาแสดงได้หมด ก็จะเลือกเฉพาะการปรับแต่งบางประการเท่านั้น 
 
ในส่วนของ Edit นั้น ถ้าเราคลิกเลือกภาพที่ต้องการปรับแต่ง ก็กด icon หมายเลข 4 ในภาพที่ 4 โปรแกรมจะแสดง Editing Palette ขึ้นมา ใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ในการตกแต่งภาพ คือ Favorites/Crop/Basic/Effect/Details/Clone Stamp Tool/Red-Eye Reduction  ยกตัวอย่าง หากเลือก  Basic โปรแกรมจะแสดงตัวเลือกในการปรับ Exposure  ปรับแต่ง White Balance  สีต่างๆ ปรับ Clarity ดึงTone Curve ปรับ Highlight และ Shadow เป็นต้น ดังภาพด้านล่างนี้
 
                                                  (ภาพที่ 15)
 
ตัวอย่างภาพด้านล่างเป็นการปรับ Saturation ของภาพ
 
                                         (ภาพที่ 16)
 
ภาพด้านบนนำมาลบวัตถุที่อยู่ด้านล่างของภาพด้วยฟังก์ชั่น Clone Stamp ซึ่งจริงๆ แล้ว ดูไม่เนียนเท่ากับทำในโปรแกรมอย่างเช่น Lightroom หรือ Photoshop และในระหว่างที่ทำก็ดูติดๆขัดๆ ยังไงชอบกล
 
                                             (ภาพที่ 17)
 
Art Filter
Art Filter เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่ผู้ใช้กล้องโอลิมปัสนิยมใช้ในการถ่ายภาพ Jpeg ซึ่งการใช้โปรแกรม Olympus Workspace อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ถ่ายภาพไฟล์ RAW สามารถนำไฟล์ภาพนั้นมาใส่ Art Filter ได้เต็มรูปแบบ 
 
วิธีใช้  Art Filter เลือกรูปที่ต้องการปรับแต่ง แล้วกดที่ปุ่ม Effect เลือกแบบของ Art Filter ที่ต้องการ เช่น Pop Art/Soft Focus/Pale&Light Color/Light Tone/Grainy Film/Pin Hole/Diorama/Cross Process …… เป็นต้น
 
ภาพข้างล่างเป็นตัวอย่างการใช้ Art Filter: Pop Art II กับไฟล์ภาพดอกเฟื่องฟ้า เพื่อเร่งสีให้ฉูดฉาดและเพิ่ม contrast ตามแบบฉบับของ Pop Art II
 
                                         (ภาพที่ 18)
 
Picture Mode
โหมดนี้สำคัญยิ่ง เมื่อเราถ่ายภาพเป็นไฟล์ Raw สิ่งที่ผมเห็นว่าขาดไม่ได้สำหรับกล้องโอลิมปัส คือ Picture Mode นี่แหละครับ ผมไม่แน่ใจว่าโปรแกรมได้จัด Picture Mode ให้กล้องแต่ละรุ่นเหมือนกันหรือไม่ ตัวโปรแกรมที่ผมใช้มี Picture Mode แบบ Nature/Vivid/Muted/Portrait/Monotone/Sepia/i-Enhance/Color Creator/Underwater/Monochrome Profile 
 
ภาพข้างล่าง 2 ภาพ เป็นภาพตัวอย่างการใช้ Picture Mode แบบ Vivid และ Monochrome Profile โดยเฉพาะ Monochrome Profile นี้ สามารถปรับแต่งได้หลากหลายตามใจชอบ
 
                                           (ภาพที่ 19)
 
                                            (ภาพที่ 20)
 
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแต่งอีกหลายรูปแบบที่ Olympus Workspace ทำได้ เช่น การกำจัด chromatic aberration หรือภาพที่มีขอบม่วง  ฟังก์ชั่น Distortion Correction  Fisheye Correction และ Keystone Compensation  เป็นต้น 
 
Copy & Paste Edit Settings
การตกแต่งภาพเราสามารถ copy settings จากภาพที่ตกแต่งเสร็จแล้ว และนำไป paste ในอีกภาพหนึ่งได้ และยัง register settings โดยทำได้รวม 4 เซ็ท ด้วยกัน ภาพข้างล่าง เป็นตัวอย่างกล่องข้อความที่เราจะ register settings จากภาพที่ 20 ซึ่งเป็น Monochrome Profile settings เพื่อไว้ใช้ paste กับภาพอื่นได้ต่อไป
 
 (ภาพที่ 21)
 
Batch Editing
หรือเราจะ save edit settings เก็บไว้เป็นไฟล์ ก็ได้ โดยหลังจากปรับแต่งภาพแล้ว คลิกปุ่ม Save ที่ Editing Palette  เมื่อเราจะใช้งานภายหลัง ก็กดปุ่ม Load Batch Processing File ดังภาพข้างล่าง
 
                                       (ภาพที่ 22)
 
Time Lapse 
ผมใช้กล้อง E-M1 Mark II ซึ่งการถ่าย time lapse นั้น จากกล้องนี้ สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ถ่ายเสร็จกล้องจะสร้างให้เป็นไฟล์ mov ให้เรียบร้อย คือ เป็น Time Lapse Movie + ถ่ายเป็นภาพนิ่งหลายๆ ภาพ และถ่ายเฉพาะภาพนิ่งอย่างเดียว  แล้วนำไปสร้างเป็นไฟล์ movie ภายหลังโดยใช้โปรแกรมที่ทำ Time Lapse Movie ได้ ซึ่งโปรแกรม Olympus Workspace นี้ก็สามารถสร้าง Time Lapse Movie ได้  โดยเราเลือกภาพทั้งหมดที่ต้องการ แล้วคลิกปุ่ม Time Lapse Movie (ภาพที่ 2) หรือไปที่ Menu Bar เลือก Tools แล้วเลือก Time Lapse Movie ก็จะปรากฏหน้าจอแบบภาพข้างล่าง

                                          

(ภาพที่ 23)
 
การ Export File
เมื่อตกแต่งภาพเสร็จสมบูรณ์แล้ว ต้องการจะ export file ไม่ว่าครั้งละไฟล์หรือหลายไฟล์ ก็กดปุ่ม Export ที่อยู่บน Tool Bar (ภาพที่ 1) หลังจากนั้น ก็จะปรากฏกล่องข้อความให้เลือกใส่ option ต่างๆ ได้หลากหลาย ดังภาพข้างล่างนี้  

 

                                  (ภาพที่ 24)                    
 
ไฟล์ภาพที่ได้รับการตกแต่งไม่ว่าแบบใดก็ตามใน Olympus Workspace ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นไฟล์ JPEG หรือ  RAW จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ pixel แต่อย่างใด เพราะข้อมูลการปรับแต่งภาพจะอยู่ในระบบ database ของ Olympus Workspace การ export จึงเป็นการสร้างภาพขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้ตกแต่งมาเรียบร้อยแล้ว
 
สรุป
Olympus Workspace เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ใช้กล้องโอลิมปัสเท่านั้น ดังนั้น การนำ Picture Mode และ Art Filter ของโอลิมปัสมาใช้กับภาพที่ถ่ายโดยกล้องโอลิมปัสสามารถให้สีสรรของภาพตรงกับเอกลักษณ์ของกล้องโอลิมปัสมากที่สุด มากกว่าโปรแกรมอื่นใดจะให้ได้ ถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW มา แล้วต้องการแปลงให้เป็นไฟล์ JPEG โปรแกรมตัวนี้ก็จะสร้างไฟล์ JPEG ให้ได้เหมือนกับไฟล์ภาพ JPEG ที่ออกมาจากกล้องโอลิมปัสได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว โปรแกรมอื่นแม้ว่าสามารถสร้างภาพที่มีสีสรรมีเอกลักษณ์คล้ายกับโอลิมปัส แต่มันเป็นเพียงการคล้ายคลึงเท่านั้น ไม่ใช่โอลิมปัสแบบ 100% แต่อย่างใด 
 
น่าเสียดายที่ Olympus Workspace ไม่มี local adjustment ถ้าอ่านข้อเขียนของผมมาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าที่ผมเขียนมาเกี่ยวกับการตกแต่งภาพล้วนเป็น global adjustment เท่านั้น คือจะปรับสีปรับแสงไม่ว่าอะไรก็ตาม มันต้องทำทั้งภาพ แต่จะปรับจะตกแต่งเฉพาะบางส่วนของภาพมันทำไม่ได้  Olympus Workspace  ไม่มีฟังก์ชั่นเกี่ยวกับ mask  ไม่มี  brush tool ไม่มี radial filter และ graduated filter ถ้าเวอร์ชั่นต่อๆ ไปของโปรแกรมสามารถเพิ่มในเรื่องนี้ได้ก็จะดีมาก
 
ดังนั้น ถ้าต้องการใช้งานโปรแกรมนี้จริงๆ วิธีการก็คือ การนำมาใช้งานในลักษณะเป็นจุดเริ่มต้นหรือขั้นตอนแรกในการปรับแต่งภาพให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ work flow ของเราได้ ยิ่งถ่ายจากกล้องมาดีแล้ว มาปรับเพิ่มเติมในโปรแกรมอีกเล็กน้อยก็ใช้ได้ แต่ถ้าต้องการใช้การตกแต่ง การ Retouch ในขั้นที่สูงขึ้น ก็ต้องไปทำในโปรแกรมตัวอื่นต่อไป  นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ Olympus Workspace เป็นแกนกลางในการทำงานกับโปรแกรมตัวอื่นของโอลิมปัส คือ Olympus Capture และ Olympus Digital Camera Updater
 
สำหรับผู้ที่ต้องการดาวน์โหลดโปรแกรมนี้ โปรดคลิกที่นี่ และต้องเตรียม serial no. ของกล้องโอลิมปัสให้พร้อม เพื่อกรอกข้อมูลก่อนจะดาวน์โหลดด้วยครับ