ใช้โปรแกรมตัวไหนดีในการแต่งภาพ

      Photo by Joshua Rawson-Harris on Unsplash 

ในการแต่งไฟล์ภาพนั้น มีโปรแกรมให้เราเลือกใช้หลายตัวมากมาย ตั้งแต่ประเภทใช้ฟรีไม่ต้องเสียเงินซื้อ กับแบบที่ต้องเสียเงินซื้อนั้นมีทั้งราคาถูกราคาแพง และมีทั้งแบบซื้อขาดจ่ายครั้งเดียว จะจ่ายอีกครั้งเมื่อโปรแกรมมีการ upgrade ในระดับที่สำคัญ และมีแบบที่ต้องเสียค่าใช้เป็นรายเดือน

ก่อนอื่นขอเรียนว่า โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการตกแต่งภาพนั้น มันมีหลายแบบหลายประเภท คุณสมบัติหลากหลาย ยากที่จะแยกออกเป็นกลุ่มๆ ได้ชัดเจนพอ เช่น มีกลุ่มโปรแกรมที่มีระบบการทำงาน หรือที่เรียกว่า Workflow ของงานภาพถ่ายโดยเฉพาะ น่าจะเรียกว่ากลุ่ม Image Processing และกลุ่มโปรแกรมที่เรียกว่า Image Editor หรือ Image Manipulation ซอฟต์แวร์บางตัวก็ผสมผสานคุณลักษณะเข้าไปหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน ยากที่จะแยกออกมาให้ชัดเจนเป็นกลุ่ม โปรแกรมบางตัวใช้ระบบ Catalog คือระบบ Database ที่รวบรวมเข้ามูลภาพทั้งหมดและการแต่งภาพของเราไว้ในฐานข้อมูล โปรแกรมที่ไม่ได้ใช้ระบบนี้ก็อาจใช้ไฟล์ที่เรียกว่า Sidecar เช่น XMP sidecar ไฟล์ แต่โปรแกรมบางตัวก็ใช้ผสมกันระหว่าง Catalog กับ XMP และยังมีซอฟต์แวร์ประเภทกลุ่มที่เรียกว่า Image Management หรือ Digital Asset Management (DAM) อีกด้วย สุดท้ายน่าจะเป็นกลุ่ม Image Viewer ซึ่งโปรแกรมประเภทนี้บางตัวยังเป็น DAM อีกด้วย บางตัวก็ผสมปนเปกันไปหมด


ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงเฉพาะจากประสพการณ์โปรแกรมที่ผมใช้อยู่ และโปรแกรมที่เคยใช้ และที่ได้ทดลองใช้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนมันไม่ได้รวมครบทุกโปรแกรมที่มีอยู่ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะโปรแกรมหรือ Application มันมีจำนวนนับร้อยโปรแกรม และที่จะเขียนก็ไม่ถึงกับลงรายละเอียดอะไรมากนักนะครับ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าแต่ละโปรแกรมคุณสมบัติโดยสรุปมีอะไรบ้าง และข้อคิดเห็นส่วนตัวของผมเองเกี่ยวกับโปรแกรมนั้นๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้บ้างสำหรับผู้ที่ต้องการใช้หรือค้นหาโปรแกรมสำหรับแต่งภาพ แต่ไม่รู้ว่าควรใช้โปรแกรมตัวไหนกันดี



Adobe Photoshop

เป็นโปรแกรมยอดนิยมมีชื่อเสียงมายาวนาน ถือว่าเป็นเจ้าตลาดสำหรับโปรแกรมแต่งภาพที่เรียกว่า Raster Graphics Editor และมีลักษณะเป็นโปรแกรมแบบ Image Manipulation สามารถปรับแต่งภาพได้ทุกรูปแบบไม่ว่าไฟล์ภาพทั่วไป หรือใช้ในงาน Graphic Design หรือประกอบงาน Web Design ก็ได้ด้วย เรียกว่าอะไรเกี่ยวกับการแต่งภาพ การตัดต่อภาพ โปรแกรมไหนทำไม่ได้ Photoshop ทำได้หมด ช่างภาพสามารถใช้ได้ดี พวก Graphic Designer ก็ใช้ได้ดี มีระบบ Layer, Selection, Masking และ Tool ต่างๆ อีกเยอะแยะ


ปกติ Photoshop ไม่ได้มาแค่โปรแกรมเดียว แต่จะมีโปรแกรมย่อยอีก 2 ตัว ตามมาด้วย คือ Adobe Camera Raw สำหรับการปรับแต่งไฟล์ RAW เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ หลังจากนั้น ก็นำไฟล์มาปรับแต่ง หรือ retouch ใน Photoshop ต่อไป ซึ่งถ้าต้องการปรับแต่งไฟล์ Jpeg ก็สามารถเปิดไฟล์ใน Photoshop ได้ทันที ไม่ต้องทำผ่าน Adobe Camera Raw และโปรแกรมอีกตัว คือ Adobe Bridge จะถือว่า Image Viewer ก็ได้ แต่ความจริงมันเป็นมากกว่านั้น เพราะมันสามารถแสดง Thumbnail ของไฟล์ดิจิทัลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Image file ก็ได้ เช่น pdf, doc, docx ถ้าถามว่า Adobe Bridge เป็น DAM ด้วยหรือไม่ เคยเห็นบางคนบอกว่าเป็น เพราะนำมาใช้ในการบริหารจัดการไฟล์ได้ แต่ผมว่ามันไม่น่าจะใช่ เพราะมันไม่ได้ใช้ระบบ Database อะไรเข้ามาจัดการ ไม่มีระบบ Catalog แต่ถ้าจะใช้บริหารจัดการไฟล์ดิจิทัลมันก็ทำได้ในระดับหนึ่ง ตราบใดที่เราจัดระเบียบ Folder ไฟล์ของเราไว้อย่างเป็นระบบที่ดี


นอกจากนี้ Photoshop ยังสามารถปรับแต่งไฟล์วิดีโอและตัดต่อได้ด้วย คือ ทำได้ในระดับหนึ่ง หลักก็เหมือนกับปรับแต่งภาพนิ่งจากไฟล์วีดีโอ แต่ส่งผลลัพธ์การปรับแต่งไฟล์วีดีโอทั้งไฟล์ ถ้าใช้ทำไฟล์วีดีโอคลิปสั้นก็ถือว่าโอเคหละครับ แต่ถ้าต้องการฟังก์ชั่นตัดต่อและปรับแต่งที่ครบครันก็ต้องใช้โปรแกรม Adobe Premiere Pro


ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ ผมเห็นว่าตัวโปรแกรมมันทำอะไรได้เยอะจริง และเป็นโปรแกรมใหญ่ที่เสริมคุณสมบัติเข้ามาเรื่อยๆ จึงทำให้การเรียนรู้การใช้งานสำหรับมือใหม่แล้วถือว่ายากทีเดียว ต้องทำความเข้าใจกับเครื่องไม้เครื่องมือสารพัดของโปรแกรม แต่ดีที่โปรกรมตัวนี้ได้รับความนิยมสูง การหาช่องทางการเรียนรู้การใช้งานจึงมีช่องทางเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจากอินเทอร์เน็ต หนังสือหนังหา และพวก Tutorial ต่างๆ ซึ่งช่วยได้เยอะมากทีเดียว


Adobe Lightroom

โดยที่โปรแกรม Photoshop ไม่ใช่โปรแกรมที่ใช้เฉพาะช่างภาพหรือผู้รักการถ่ายภาพ แต่ยังรวมไปถึง Graphic designer ด้วย  ดังนั้น บริษัท Adobe จึงจัดสร้างโปรแกรมสำหรับช่างภาพขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะ Photoshop เองมันยังไม่ได้ยืดหยุ่นพอสำหรับงานช่างภาพ ซึ่งไอเดียของ Lightroom คือ ต้องเป็นระบบการทำงาน แบบ Workflow ของช่างภาพ เริ่มตั้งแต่ import ไฟล์ภาพเข้ามาในระบบ Catalog ก่อนจึงจะปรับแต่งภาพได้ เพราะ Lightroom ไม่ใช่ Image Browser โปรแกรมสามารถใช้ปรับแต่งภาพได้ในลักษณะที่ช่างภาพโดยทั่วๆไปใช้ ใช้กับงานภาพถ่ายโดยเฉพาะ ไม่จำเป็นต้อง manipulate ภาพขั้นสูง เช่น ย้ายวัตถุจากภาพหนึ่งไปอีกภาพหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใส่ตัวอักษรลงในภาพ แบบที่ Photoshop ทำ ไม่มี Tool ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นสำหรับช่างภาพ โดยโปรแกรมต้องรองรับการทำงานแบบช่างภาพ นับตั้งแต่การบริหารจัดการภาพ การใส่ข้อมูล metadata ของภาพ การปรับแต่งภาพ การจัดการเรื่องแสงเรื่องสี การพิมพ์ภาพถ่าย และการนำภาพขึ้นเว็บ โดย Workflow เช่นนี้ต้องรวมอยู่ในโปรแกรมเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีโปรแกรมแยกย่อยแบบใน Photoshop บริษัทจึงใช้ engine ของโปรแกรม Adobe Camera Raw มาพัฒนาเป็นโปรแกรม Lightroom ขึ้นมาโดยเฉพาะ

จะว่าไปแล้ว Lightroomเหมาะกับงานภาพ Stock นั้น คือ ขั้นตอนของการทำงาน ขั้นตอนแรก สามารถใช้ Lightroom บริหารจัดการไฟล์ภาพ รวมทั้งไฟล์วีดีโอด้วย โดย import เข้ามาในระบบ Catalog สามารถใส่ข้อมูล Exif และ Metadata ของภาพไม่ว่า Title, Caption และ Keyword ของภาพ การปรับแต่งภาพก็สะดวก ไม่ต้องใช้ Layer ให้ยุ่งยากแบบ Photoshop และสามารถทำงานแบบใช้ Batch file ได้ด้วย คือ แต่งภาพครั้งเดียวแต่นำไปใช้แต่งได้พร้อมๆ กันหลายๆ ภาพ โปรแกรมเองก็มี Preset ให้พร้อม และหาเพิ่มเติมได้ง่าย ดังนั้น การปรับแต่งภาพจึงทำได้สะดวกรวดเร็ว เหมาะกับงานช่างภาพไม่ว่าสมัครเล่นหรืออาชีพ หากภาพใด Lightroom แก้ไขปรับแต่งให้ไม่ได้ ก็นำภาพไปปรับแต่งต่อใน Photoshop แล้วย้อนกลับมาเก็บไว้ใน Lightroom จะเห็นว่าระบบมันเอื้อต่อการทำงานภาพถ่ายอย่างยิ่ง

สำหรับไฟล์วีดีโอนั้น Lightroom แสดง Thumbnail ได้ใน Library Module พร้อมบันทึกข้อมูล Metadata ได้ และปรับแต่งเล็กน้อยได้ในส่วนของ Quick Develop ไม่สามารถจะใช้ Develop Module ปรับแต่งไฟล์วีดีโอโดยตรงได้ แต่ก็มีวิธีทำได้โดยตัดคลิปวิดีโอออกมาเป็นภาพนิ่งไฟล์ Jpeg แล้วนำภาพนั้นไปปรับแต่งใน Develop Module เสร็จแล้วนำมา sync กับไฟล์วีดีโอ ซึ่งจะได้สีตรงตามภาพนิ่งจากวีดีโอที่เราปรับแต่งแล้ว


สำหรับงานภาพ Stock เราสามารถบริหารจัดการไฟล์ภาพถ่ายของเราได้ว่า ภาพใดเราส่งไปเว็บใดบ้าง ภาพใดได้รับการ approved ภาพใดถูก rejected และเราสามารถบันทึกเหตุผลของการถูกปฏิเสธภาพไว้ในระบบของโปรแกรมได้ โดยไม่ต้องไปใช้โปรแกรมอะไรอื่นเลย Lightroom ตัวเดียวเอาอยู่


(สำหรับวิธีบริหารจัดการภาพถ่ายสำหรับภาพ stock ผมเคยเขียนไว้รวม 4 ตอน เมื่อปี 2561 ผู้สนใจคลิกอ่านได้ เริ่มตั้งตั้งแต่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 2  ตอนที่ 3 และตอนที่ 4 แม้ว่าเวอร์ชั่นของซอฟต์แวร์หลายตัวได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลักการยังคงใช้ได้อยู่)


โดยสรุป Photography Plan ของ Adobe ที่ควบ Lightroom กับ Photoshop มาด้วยกัน เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ ก็ต้องดูความคุ้มทุนที่ต้องลงทุนไปด้วย ค่า subscription อย่างน้อยเดือนละ 365 บาท สำหรับเวอร์ชั่น Lightroom CC + Photoshop CC จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่ได้สูงมากนัก แต่ต้องมองในระยะยาวด้วย ค่าใช้จ่ายนับเป็นปีหลายๆ ปี ก็ไม่ใช้น้อยครับ เพราะมันคือต้นทุนโดยเฉพาะสำหรับช่างภาพอาชีพ หรือช่างภาพ Stock แต่ถ้าเห็นว่ามันคุ้ม ก็จัดไปเลยสำหรับโปรแกรมยอดนิยมชุดนี้

Affinity Photo


โปรแกรมตัวแรกที่จะใช้ทดแทน Photoshop คือ ตัวนี้เลยครับ Affinity Photo ผมรู้จักโปรแกรมตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2561 หลังทดลองใช้ก็ไม่ลังเลเลยที่ตัดสินใจซื้อ ซึ่งโปรแกรมมีราคาไม่สูง และ upgrade ฟรีมาตลอดตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 2564 นี้ เวอร์ชั่นปัจจุบัน คือ 1.9 คิดว่าเมื่อขึ้นเวอร์ชั่น 2 คงต้องเสียเงินค่า upgrade บริษัท Serif ผู้ผลิตโปรแกรม 3 ตัว คือ Affinity Photo, Affinity Designer และ Affinity Publisher เป็นบริษัทที่ลดราคาซอฟต์แวร์ถึง 50% ปีละหลายครั้ง  แถมยังให้ทดลองใช้งานฟรีนานถึง 90 วัน พูดตรงๆ ไม่เคยเห็นบริษัทซอฟต์แวร์ใดใจป้ำแบบนี้มาก่อนเลย


โปรแกรมตัวนี้ถ้าใครเคยใช้งาน Photoshop มาก่อน ก็น่าจะเรียนรู้การใช้งานได้ไม่ยาก ผมถือว่าเป็นโปรแกรมที่ใกล้เคียง Photoshop มากที่สุดแล้ว ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็คงอยู่ในราวๆ 70-80%  Tool หรือเครื่องมือต่างๆ ก็มีแทบเหมือนกับ Photoshop มี Layer มี Mask แบบเดียวกัน วิธีการใช้งาน Affinity Photo แบ่งการทำงานออกเป็นโหมดต่างๆ ที่เรียกว่า Persona ถ้าเราใช้ไฟล์ RAW ไฟล์นั้นก็จะถูกเปิดโดย Develop Persona หลังจากปรับแต่งภาพในไฟล์ RAW เสร็จแล้ว โปรแกรมก็จะนำภาพนั้นเข้าสู่ Photo Persona ถ้าเทียบกับ Photoshop โหมด Develop Persona ก็คือ Adobe Camera Raw และโหมด Photo Persona ก็คือตัว Photoshop แท้ๆ ก็นับว่าสะดวกที่ไม่ต้องแยกโปรแกรมการทำงานกับไฟล์ RAW เหมือน Photoshop แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ตรงที่ไฟล์ที่ทำผ่าน Develop Persona แล้ว ไม่สามารถนำกลับมาทำซ้ำเพื่อปรับปรุงต่อเติมส่วนที่ปรับแต่งไว้แล้วได้ ต้องเริ่มต้นใหม่หมด เพราะระบบไม่ได้เก็บ History ของไฟล์ RAW ไว้ กลับเก็บเฉพาะช่วงที่กำลังทำงานอยู่ใน Develop Persona เท่านั้น ไม่เหมือน Camera Raw เมื่อเราปรับแต่งไฟล์เรียบร้อยแล้วสามารถคลิกปุ่ม save image เพื่อบันทึกไฟล์ในรูปแบบอื่นๆ ได้ทันที ไม่ว่า Jpeg, PSD, TIFF หรือ DNG  ได้ หรือเลือกทำงานต่อใน Photoshop ในขณะที่ Affinity Photo ทำได้อย่างเดียว คือ หลังจากปรับแต่งใน Develop Persona แล้ว ต้องคลิกปุ่ม Develop เพื่อแปลงไฟล์เป็นฟอร์แมท afphoto แล้วไปทำงานต่อใน Photo Persona แล้วถึงจะ Export ไฟล์ไปเป็น Jpeg, PSD, TIFF ต่อไป


นอกจากนี้ มีอีกจุดหนึ่งที่ Affinity Photo ต่างกับ Photoshop ซึ่งแถมโปรแกรม Bridge มาให้ด้วย เพื่อใช้เป็น Image Browser ในขณะที่ Affinity Photo ไม่มี หลายปีก่อน บริษัท Serif เคยแจ้งว่าจะพัฒนา Image Browser ของตนเองขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใด ส่วนการแสดงไฟล์วีดีโอ โปรแกรมนี้อ่านไฟล์วีดีโอไม่ได้นะครับ ประเด็นนี้ หากนำไปเทียบกับ Photoshop ซึ่งทำได้ ก็คงเป็นการบ้านอีกอย่างหนึ่งของ Affinity Photo ที่ควรต้องนำไปพิจารณาด้วย


อนึ่ง Affinity Photo และ Photoshop ทั้ง 2 โปรแกรมนี้ถือว่าเป็น Image manipulation software และมีกระบวนการในการ process ไฟล์ RAW ที่คล้ายคลึงกัน คือ ต้องผ่านขั้นตอนของการปรับแต่งไฟล์ RAW ก่อน แล้วถึงจะไปต่อในขั้นตอนต่อไป คือ process ผ่าน Adobe Camera Raw แล้วถึงจะเข้าสู่โปรแกรม Photoshop ในขณะที่ไฟล์ RAW ใน Affinity Photo ต้อง process ผ่าน Develop Persona เสร็จแล้วถึงจะเข้าสู่ Photo Persona เพียงแต่ Adobe Camera Raw มีความยืดหยุ่นสูงกว่า ทำอะไรได้มากกว่า คือ สามารถ save ไฟล์เป็น format ต่างๆ ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่โปรแกรม Photoshop ส่วนโปรแกรมตัวอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ทุกโปรแกรมจะเป็นลักษณะการ process ภาพแบบใน Lightroom คือ ไม่ว่าไฟล์ RAW หรือ Jpeg จะอยู่ใน process เดียวกันเหมือนกันหมด ต่างเพียงแค่ ไฟล์ RAW สามารถปรับแต่งได้มากมายหลากหลายกว่าไฟล์ Jpeg ที่มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ


สรุป ในส่วนของโปรแกรม Affinity Photo ถ้าใครไม่คิดจะใช้ Photoshop ในการแต่งภาพ โปรแกรม Affinity Photo นี่แหละครับเป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว ราคาไม่แพง มีโปรโมชั่นเป็นประจำตลอดทั้งปี ทั้งเวอร์ชั่น Mac, Windows และ iOS คุณสมบัติส่วนใหญ่พูดได้ว่าน้องๆ Photoshop บางคนอาจคิดว่า ถ้าน้องๆ Photoshop ก็ควรไปใช้ Adobe Photoshop Elements ไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งเป็นน้องแท้ๆ ร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตามความเห็นส่วนตัวผมว่าอย่าดีกว่า ผมเคยใช้ Adobe Photoshop Elements มาก่อน ราคาสูงกว่าเยอะมาก feature น้อยกว่า กั๊ก feature ต่างๆ แล้วค่อยๆ ทยอยปล่อยออกมา เพื่อ upgrade ทุกปี เสียเงินทุกครั้ง


อีกหนึ่งทางเลือกคือ ซอฟต์แวร์ฟรี หรือ Open-source software อย่างเช่น GIMP (GNU Image Manipulation Program) มีทั้งเวอร์ชั่น Windows, Mac, Linux อันนี้ผมไม่เคยใช้นะครับ เพียงแต่จะบอกไว้ว่า ถ้าไม่ต้องการเสียเงิน ของฟรีก็มีให้เลือก


On1 Photo Raw

โปรแกรมตัวนี้ ผมก็เคยใช้มาก่อน เป็นโปรแกรมที่มีรายละเอียดคล้ายๆ กับ Lightroom แต่เป็นแบบ 2-in-1 คือ เป็น Image Browser + Catalog มี Profile สำหรับ Lens Correction ให้ด้วย แต่เลนส์ตัวไหนบ้างที่มีอยู่ใน Profile ควรเช็คกับเว็บไซต์ของบริษัท On1 ก่อน ระบบการทำงานแบ่งเป็น Module คือ Browse, Edit ถ้าไม่ต้องการใช้ Catalog แบบใน Lightroom ก็ทำได้ แต่ถ้าต้องการให้โปรแกรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารจัดการไฟล์ภาพ ระบบ Catalog ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ โปรแกรม Photo Raw ยังมีการจัดการเกี่ยวกับ Collection เช่นเดียวกับ Lightroom เพียงแต่เรียกชื่อว่า Album มีระบบใส่ข้อมูล Metadata เช่น Keyword, Description ใส่ข้อมูลของผู้ถ่ายภาพได้เหมือนกับ Lightroom มี Map View เหมือนกับ Lightroom ที่มี Map Module เช่นกัน มีระบบ Layer คล้าย Photoshop ผมว่าดูแล้วดูดีครับ โปรแกรมคล้าย Lightroom + บาง function คล้าย Photoshop เช่น Layer และ Mask แถมใส่ Text ได้ด้วย สร้างภาพ Virtual copy แบบ Lightroom ได้ ส่วนการซื้อขาย จะซื้อแบบซื้อขาดก็ได้ หรือ subscription แบบ Adobe ก็ได้ ในราคาที่ถูกกว่าเล็กน้อย แต่บริษัท On1 ก็มีลูกเล่น คือ เขาจะ upgrade โปรแกรมทุกปี และเสียเงินทุกปี เป็นเสียอย่างนี้


สำหรับไฟล์วีดีโอ โปรแกรมสามารถแสดง Thumbnail ของไฟล์ได้ใน Browse Module และสามารถบันทึกข้อมูล Metadata ในไฟล์ได้เช่นกัน แต่โปรแกรมไม่มี Video Player ของตัวเอง ต้องอาศัย External Player เช่น QuickTime Player เพื่อเล่นไฟล์วีดีโอ


แต่มีเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ผมไม่ upgrade อีกต่อไป เลิกใช้ไปเลย ไม่ใช่โปรแกรมมันไม่มีความสามารถนะครับ ไม่ใช่เรื่องสมรรถนะ แต่เป็นเรื่องการ design ระบบ Database ของโปรแกรม ผมไม่ใช่โปรแกรมเมอร์แต่อ่านที่บริษัท On1 เขาตอบข้อข้องใจเรื่องการ Backup Database โปรแกรมตัวนี้ไม่ได้แยกระบบ Database ออกจากตัวโปรแกรม เหมือนกับว่ามันต้องผูกติดกันไป จะแยกเฉพาะส่วนของ Database ออกมาเพื่อ Backup ไม่ได้ บางคนแนะนำให้ใช้ backup ไฟล์ XMP ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ มันมีวิธีเดียวที่จะ Backup Database ได้ คือ ต้อง Backup ฮาร์ดดิสก์ทั้งลูก อย่างนี้ก็ไม่ไหวหละครับ แต่ถ้าใครเห็นว่าไม่เป็นไร เพราะปกติ Backup ฮาร์ดดิสก์ทั้งลูกอยู่แล้ว ก็แนะนำให้ทดลอง download มาใช้งานดูครับ ใช้ได้ 14 วัน


Skylum Luminar Ai

โปรแกรม Luminar ผมใช้มาตั้งแต่เวอร์ชั่นแรก ตอนนั้นบริษัทผู้ผลิตชื่อ Machphun ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Skylum เนื่องจากได้เริ่มออก Luminar เวอร์ชั่น Windows แล้ว เพราะชื่อเก่ามันไปเน้นที่ Mac fun สำหรับโปรแกรม Luminar โปรแกรมนี้ มีข้อสังเกตว่า ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับลูกค้าอย่างมาก เนื่องจากปรับเปลี่ยนโปรแกรมทุกปี เปลี่ยนชื่อโปรแกรม เปลี่ยน User Interface เปลี่ยน format ของไฟล์ เสียเงินทุกปีเช่นกัน ตอนแรกคิดว่าโปรแกรมจะอยู่ตัวแล้วที่ Luminar 4 แต่อยู่ได้ปีเดียว เขาก็เปลี่ยนเป็นตัวใหม่ชื่อ Luminar AI ซึ่ง User Interface ก็เปลี่ยนอีกแล้ว

พูดแบบสรุป คือ บริษัท Skylum เขาเหมือนกับค้นหาตัวเองไม่เจอว่าจะผลิตซอฟต์แวร์แบบไหน แรกๆ ก็พูดในทำนองว่าเป็น Lightroom Alternative คือเป็นโปรแกรมทางเลือกแทน Lightroom เวอร์ชั่นแรกๆ ไม่มี Image Browser เวอร์ชั่นหลังๆ ก็สร้างขึ้นมา แต่มัน basic มากๆ มีเพียงข้อมูล Exif เท่านั้น แต่การแสดง Thumbnail ของภาพดูสวยแปลกตาไม่เหมือนใคร เพราะโปรแกรมไม่ได้สร้างกริดเป็นช่องๆ แล้วแสดงไฟล์ลงในแต่ละช่อง แต่กลับเรียงไฟล์ภาพต่อกันไป ผมอยากจะเรียกว่า Wall Picture จุดแข็งเขาก็มี เดี๋ยวจะหาว่าผมติแต่จุดอ่อน จุดแข็งคือ มันเป็นระบบ Catalog แบบเดียวกับ Lightroom แต่จะลากไฟล์เข้าไปเปิดในโปรแกรมโดยไม่ import เข้า Catalog ของโปรแกรมก็ทำได้ Luminar AI เพิ่งค้นพบตัวเองว่า ไม่ใช่คู่แข่งของ Lightroom อีกต่อไป เป็น plug-in ของ Lightroom ก็ได้ แต่ที่สำคัญ คือ เน้นการปรับแต่งภาพด้วย AI เป็นหลัก คือ เน้นแต่งภาพอัตโนมัติโดยใช้ AI ผ่าน Template ต่างๆ ของโปรแกรม วัตถุประสงค์ต้องการทำให้โปรแกรมใช้งานง่ายเหมือนแต่งภาพในโทรศัพท์มือถือ ฟังก์ชั่นที่ทำให้ Luminar โดดเด่นมากตั้งแต่เวอร์ชั่น 4 แล้ว คือ เปลี่ยนท้องฟ้าในภาพด้วยคลิกเพียงคลิกเดียว ไม่ต้องมาทำ mask selection ให้เสียเวลา ถือเป็นเจ้าแรกในวงการที่ทำแบบนี้ได้ ซึ่งต่อมาเป็นผลให้ Photoshop อยู่เฉยไม่ได้ ต้องทำตามบ้าง

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าโปรแกรมตัวนี้ใช้แต่ AI อย่างเดียว จะใช้วิธีการ manual แบบดั้งเดิมก็ได้ครับ ปรับแต่งเองได้ทุกอย่างเหมือนโปรแกรมทั่วไป หรือใช้ AI แล้ว ก็ปรับแต่งเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน ตัวโปรแกรมแบ่ง Module เป็น 4 แบบ คือ Catalog คือ แสดงภาพที่อยู่ใน Catalog ของโปรแกรม Template เลือกแต่งภาพอัตโนมัติ  Edit ปรับแต่งภาพด้วยตัวเอง มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ใช้ และสุดท้าย คือ Export ภาพที่แต่งเสร็จแล้ว

ผมไม่ได้ใช้โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมหลักแต่อย่างใด คือ ใช้ก็ต่อเมื่อปรับแต่งยังไงมันสวยไม่ถูกใจ ก็ลองใช้ Luminar AI ดูบ้าง ให้โปรแกรมอัตโนมัติทำงานให้ดีกว่า ซึ่งบางทีผลมันก็ออกมาดีครับ ส่วนไฟล์วีดีโอ โปรแกรม Luminar AI ไม่ support อ่านไม่ออกนะครับ

สรุปว่าใช้งานง่าย เลือก Template คลิกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถูกใจเอง สำหรับ Catalog ไม่สามารถนำมาใช้เป็น DAM ได้ เอาไว้ดูภาพเฉยๆ ภาพในระบบ Database ของเรามีภาพอะไรบ้าง แต่ก็สร้าง Album หรือ Collection แบบเดียวกับใน Adobe Bridge คือ สร้าง Nested Album หรือ Album ย่อย ไม่ได้

ตามที่ได้บอกว่า Luminar เพิ่งพบว่าไม่ใช่คู่แข่งของ Lightroom นั้น ในความเป็นจริง Luminar จะปรับเปลี่ยนโปรแกรมทุกปี ไม่ใช่เป็นการ upgrade แต่เป็นการยกเครื่องใหม่ทุกปี ออกเวอร์ชั่นใหม่ทุกปี ไม่ compatible กับเวอร์ชั่นเก่า เหมือนค้นหาตัวเองยังไม่พบว่าตัองการให้โปรแกรมเป็นไปในรูปแบบใด เดี๋ยวมี Layer เดี๋ยวตัดออก เดี๋ยวมีไฟล์ฟอร์แมตของตัวเอง เดี๋ยวตัดออก เดี๋ยวมี Plug- in สำหรับโปรแกรม Lightroom โดยเฉพาะที่ชื่อ Luminar Flex ตอนนี้ก็ตัดออกไปแล้ว มันเหมือนคนตัดสินใจไม่แน่นอน เปลี่ยนใจกลับไปกลับมา อะไรทำนองนั้น ก็ให้เป็นข้อสังเกตไว้ครับ

ACDSee

โปรแกรม ACDSee เป็นโปรแกรมเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว เน้นไปที่เวอร์ชั่น Windows เป็นหลัก เป็นโปรแกรมแต่งภาพที่มีความสามารถสูงตัวหนึ่งเลย ปกติก็มีทั้ง DAM+Photo Editor คือ มาครบเลยอยู่ในโปรแกรมเดียว แต่จะมีความสับสนนิดหนึ่ง เพราะแบ่งขายแยกย่อยเป็นหลายกลุ่มเหลือเกิน คือ ประกอบด้วย Photo Studio Ultimate ชุดนี้เป็นชุด Top ของเขา มีทั้ง DAM และ Photo Editor มี Layer ให้ใช้ ทำ Focus Stacking ได้ หรือ HDR ก็ได้ ถือเป็นโปรแกรมที่คุณภาพสูงตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งคือ Photo Studio Professional คุณสมบัติรองลงมาจากชุด Photo Studio Ultimate คือ มี feature น้อยกว่าชุดตัว Top และมีชุด Photo Studio Home คุณสมบัติก็จะลดน้อยลงไปอีกระดับหนึ่ง แน่นอนว่าราคาจะถูกลงไปด้วย ยังมีชุดที่เรียกว่า Photo Editor 11 สำหรับการแต่งภาพแบบ Creative โดยเฉพาะอีก นอกจากนี้ บริษัท ACDSee ยังมีโปรแกรม Video Editor ด้วย และแยกย่อยลงไปอีก ทำให้ลูกค้างงงวยเล่น และล่าสุดมีขายแบบ Bundle คือ ชุด ACDSee Home Pack ประกอบด้วยโปรแกรม Photo Studio Ultimate, Photo Studio for Mac 7, Luxea Video Editor 6 และ Video Converter Pro 5 ขายในราคาที่สูงกว่าชุด Photo Studio Ultimate ไม่มากนัก

โปรแกรมของ ACDSee ที่กล่าวถึงข้างบนนั้น เป็นเวอร์ชั่น Windows ล้วน ยกเว้น Photo Studio for Mac 7 เท่านั้น ผมใช้แต่ Mac ดังนั้น รายละเอียดจุดแข็งจุดอ่อนโปรแกรม Windows ผมก็ไม่ได้รู้รายละเอียดมากนัก อาศัยอ่านที่หน้าเว็บเขา แต่ผมเคยใช้ Photo Studio for Mac มาก่อน ตั้งแต่เวอร์ชั่น 5-6 ผมเลือกที่จะไม่ upgrade เป็นเวอร์ชั่น 7 เพราะในส่วนของ DAM เวอร์ชั่น 6 กับ 7 มันเหมือนกัน แม้ว่าในส่วนของ Photo Editor มันปรับปรุงขึ้นมาเยอะในเวอร์ชั่น 7 สามารถปรับแต่งในส่วนของ Local Adjustment ได้ คือ ปรับแต่งเฉพาะบางส่วนของภาพ เดิมมันทำได้เฉพาะ Global Adjustment คือ ปรับแต่งทั้งภาพ แต่ผมไปใช้ Software ตัวอื่นเป็นหลักแล้ว ทั้งในส่วนของ DAM และ Photo Editor เมื่อเวอร์ชั่น 7 ออกมา ถือว่าสายไปเสียแล้ว

สำหรับการอ่านไฟล์วีดีโอนั้น ในเวอร์ชั่น Mac แสดง Thumbnail ของไฟล์ได้ บันทึกข้อมูล Metadata ในไฟล์ XMP ได้ โปรแกรมไม่มี Video Player ของตัวเอง ต้องอาศัย External Player เช่น QuickTime Player ส่วนเวอร์ชั่นที่เป็น Windows นั้น ไม่ทราบนะครับ อีกอย่างนะครับ ACDSee แสดงภาพ Thumbnail ของไฟล์ afphoto ได้

ผมเคยเขียนรีวิว Photo Studio for Mac 6 เป็นบทความภาษาอังกฤษ คลิกอ่านได้ที่นี่


DxO PhotoLab

โปรแกรมตัวนี้เป็นตัวหลักที่ผมใช้อยู่ หลังจากที่ใช้ตัวนั้นตัวนี้มาเยอะ คือ เอาตัวนี้มาเป็นตัวหลักในการปรับแต่งภาพแบบทำใน Lightroom ผมถือว่าผมพบ Lightroom Alternative แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เหมือน Lightroom มากนัก แต่มันมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่พิเศษออกไป แม้จะไม่ perfect 100% แต่ก็ถือว่าสมปรารถนาแล้ว


DxO PhotoLab 4 เป็นโปรแกรมมีทั้งเวอร์ชั่น Windows และ Mac โดยแบ่งเป็น 2 Edition คือ DxO PhotoLab 4 Elite และ DxO PhotoLab 4 Essential ซึ่งจะมีคุณสมบัติรองลงมา DxO PhotoLab เป็นโปรแกรมที่ใช้ U Point Technology ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ Layer ในการปรับแต่งภาพในส่วนของ Local adjustment ถ้าใครเคยใช้โปรแกรม Nikon Capture NX2 จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า U Point Technology เป็นอย่างไร U Point Technology เดิมเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท Nik Software โดยมี Nikon เข้าร่วมลงทุนในโปรแกรมนี้ด้วย บริษัทนี้ยังเป็นผู้ผลิตชุดโปรแกรม Nik Collection ด้วย ต่อมา Google ได้เข้ามาซื้อบริษัท พร้อมนำซอฟต์แวร์ Nik Collection ออกจำหน่ายด้วย Google ไม่ได้นำ Nik Collection ไปพัฒนาต่อแต่อย่างใด ได้มายังไงก็วางขายไปอย่างนั้น อาจเป็นพราะขายในราคาที่ค่อนช้างสูง ยอดขายต่ำ แต่ Google ก็นำ U Point Technology ไปพัฒนาในส่วนของ Selective Tool คือ Control Point ในโปรแกรม Snapseed ซึ่งเป็นโปรแกรมแต่งภาพบน iOS และ Android ในที่สุด Google ก็ปล่อยให้มีการ download โปรแกรม Nik Collection ฟรีไประยะหนึ่ง จนกระทั่ง บริษัท DxO ซึ่งเป็นบริษัทฝรั่งเศสเข้ามาซื้อ Nik Collection ต่อ และได้นำ U Point Technology มาพัฒนาต่อในโปรแกรม PhotoLab ของตัวเอง


DxO PhotoLab นอกจากจะใช้ Control Point ที่พัฒนาจาก U Point Technology ให้ดีกว่าของเดิมมากแล้ว DxO PhotoLab ยังเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในเรื่องของ Lens Correction ซึ่งมีเลนส์ Profile ของยี่ห้อต่างๆ มากมาย (แต่ไม่ครบทุกยี่ห้อนะครับ โดยเฉพาะเลนส์ยี่ห้อที่ไม่ได้เป็นยี่ห้อของกล้อง แต่เป็นเลนส์ 3rd Party ควรเช็คกับเว็บไซต์ของบริษัทก่อน) ที่เรียกว่า DxO Optics Module ซึ่งทำให้โปรแกรมแก้สัดส่วนของภาพให้ถูกต้องตรงกับเลนส์ Profile โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งแก้ไขในเรื่อง noise เรื่อง Sharpness ของเลนส์ให้ในตัว แม้แต่เลนส์ของกล้อง iPhone ก็มีอยู่


โปรแกรม PhotoLab แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ PhotoLibrary ซึ่งเป็นส่วนของ Image Browser สามารถแสดงข้อมูลของภาพได้ครบถ้วน และ Customize คือ ส่วนที่ใช้ในการตกแต่งภาพ และสามารถใส่ข้อมูล Metadata ลงในส่วนนี้ได้ และการแต่งภาพสามารถสร้าง Virtual Copy ได้เช่นเดียวกับ Lightroom แต่โปรแกรมนี้แม้ไม่ใช้ระบบ Catalog ไม่ต้อง import ไฟล์เข้าระบบ แต่โปรแกรมมีระบบ Database ของตัวเองเพื่อบันทึกข้อมูลการปรับแต่งไฟล์ หรือจะบันทึกลงในไฟล์ Sidecar ของโปรแกรมเอง คือ ไฟล์ฟอร์แมต dop ก็ได้ และยังใช้บันทึก Metadata ลงในไฟล์ xmp ก็ได้อีกเช่นกัน


จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของโปรแกรมตัวนี้ คือ Noise Reduction สำหรับไฟล์ Jpeg ใช้ตัวลด Noise ที่เรียกว่า HQ (High Quality) Denoising ซึ่งเป็นระดับมาตรฐาน แต่ถ้าเป็นไฟล์ RAW จะใช้ตัวลด Noise ที่เรียกว่า Prime Denoising มีเฉพาะใน Elite Edition และล่าสุดคือมี DeepPrime Denoising ซึ่งเป็นระดับสูงสุด พอฟัดพอเหวี่ยงกับ Topaz Denoise AI หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ


ผมมีข้อคิดเห็นนิดหนึ่งเรื่องโปรแกรมตัวนี้ อย่างที่บอกไว้ว่ามีทั้ง Edition ที่จัดเต็มกับลดหลั่นลงมาตามราคาแล้ว บริษัท DxO ก็ใช้วิธีเหมือนกับการขาย Option เพิ่ม แบบบริษัทขายรถยนต์ เช่น หากต้องการใช้โปรแกรม DxO ViewPoint เพื่อใช้ปรับแก้ความบิดเบี้ยวของอาคารทางสถาปัตยกรรม เป็นการแก้ไข Perspective ให้ได้สัดส่วนของมุมมองที่ถูกต้อง ก็ต้องเสียเงินซื้อเพิ่ม อยากได้ Preset ที่เรียกว่า DxO FilmPack ก็ต้องซื้อเพิ่ม อยากได้ Nik Collection ที่ DxO นำมาเพิ่ม Preset และใส่ ViewPoint เข้าไป เพิ่มความสะดวกในการใช้เป็น Plug-in สำหรับ Photoshop และ Lightroom ก็ต้องซื้อเพิ่ม ซึ่งตัวนี้ขายในราคาที่ใกล้เคียงกับตัวโปรแกรม DxO PhotoLab Elite 4 เรียกว่าเสียเงินยุบยั่บหละครับ ในโปรแกรมเสริมทั้ง 3 ตัวนี้ ตัวที่จำเป็นที่สุดในทัศนะของผม คือ DxO ViewPoint เท่านั้น จุดอ่อนของโปรแกรม DxO PhotoLab คือ มันไม่รู้จักไฟล์วีดีโอ อ่านไม่ออกนะครับ และที่สำคัญจุดตาย คือ DxO PhotoLab ไม่ support ไฟล์ RAW กล้อง Fuji ที่ใช้ X-Trans sensor


สำหรับ DxO Nik Collection 3 ผมเคยรีวิวไว้เป็นบทความภาษาอังกฤษที่นี่ครับ คลิกอ่านได้


โปรแกรมแต่งภาพของกล้องแต่ละยี่ห้อ

กล้องหลายๆ ยี่ห้อเขามีโปรแกรมแต่งภาพฟรีมาให้อยู่แล้ว เช่น กล้อง Olympus ก็มีโปรแกรม Olympus Workspace ให้ผู้ใช้กล้องโอลิมปัส download ไปใช้ฟรีได้อยู่แล้ว กล้อง Nikon ก็มีโปรแกรม Capture NX-D ให้ download ได้เช่นกัน แถมมี Control Point แบบที่ใช้ใน Capture NX2 ด้วย หรือกล้อง Canon ก็มีโปรแกรม Canon Digital Photo Professional ส่วนกล้อง Sony และ Fuji ก็มีโปรแกรม Capture One Express for Sony และ for Fujifilm เป็นต้น


ปกติโปรแกรมเหล่านี้จะอ่านไฟล์ RAW เฉพาะไฟล์ที่มาจากกล้องของยี่ห้อนั้นๆ เท่านั้น อ่านไฟล์ RAW ของกล้องต่างยี่ห้อไม่ได้ แต่โดยที่เราได้ใช้งานฟรี จึงสมควรจะ download มาใช้งานก่อน ถ้ามันเพียงพอต่อการใช้งานของเรา ก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินซื้อหรือจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับโปรแกรมตัวอื่นๆ แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วโปรแกรมเหล่านี้จะทำงานได้ดีกับการปรับแก้ไขภาพแบบ Global adjustment ไม่ใช่ Local adjustment แต่ที่โปรแกรมเหล่านี้มีจุดแข็งที่สุด คือ มันปรับแต่งภาพได้สีได้แสงตรงตาม Profile ของกล้องยี่ห้อนั้นๆ โดยเฉพาะคนที่ถ่ายภาพ RAW เอาไฟล์มาปรับแต่งในโปรแกรมของตัวเองให้ตรงพวก Picture Style ของกล้องแต่ละตัวได้หลากหลายมาก จึงไม่ควรมองข้ามโปรแกรมแต่งภาพของกล้องแต่ละยี่ห้อที่เขามีให้เรานะครับ


ที่จริงแล้ว วิธีที่ประหยัดเงินที่สุดถ้าคุณมีซอฟต์แวร์ที่ได้มาฟรีพร้อมกล้อง ก็ใช้ซอฟต์แวร์ตัวที่ได้มานั่นแหละ process ไฟล์ RAW ถ้าได้ผลพอใจก็จบ ถ้าต้องการแต่งเพิ่มในส่วนที่โปรแกรมฟรีตัวนั้นมันให้ไม่ได้ ก็นำไฟล์ไปทำต่อใน Affinity Photo ซึ่งราคาประหยัดแต่คุณภาพสูง ซึ่งผมว่าแค่นี้ก็พอเพียงแล้ว ไฟล์ RAW คุณเองที่ process ไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ค่า setting ต่างๆ ก็อยู่ครบ (ถ้าไม่ไป reset มัน) กลับมาแต่งต่อเพิ่มเติมได้ ไม่เหมือนกับกรณี process ไฟล์ RAW ใน Affinity Photo ซึ่งโปรแกรมฟรีทั้ง 3 ตัวที่ยกตัวอย่างมา คือ Olympus Workspace, Nikon Capture NX-D และ Capture One Express ผมทดสอบแล้ว ทุกตัวมีระบบ Database ในตัว สามารถจัดเก็บข้อมูลการแต่งไฟล์ RAW เดิมไว้ได้ทั้งสิ้น เว้นแต่เราไป reset มันเท่านั้น ตามที่เขียนไว้ข้างต้น


โปรแกรม DAM โดยเฉพาะ

อันนี้ไม่ได้เป็นโปรแกรมสำหรับแต่งภาพนะครับ แต่ขอถือโอกาสให้ข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมา โปรแกรม Digital Asset Management นี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ขึ้นกับโปรแกรมแต่งภาพใดๆ คือ เป็น DAM ล้วนๆ ผมใช้โปรแกรมประเภทนี้ในลักษณะเป็นศูนย์กลางของระบบ Workflow คือ บริหารจัดการไฟล์ทุกอย่างผ่านโปรแกรม DAM เริ่มตั้งแต่ import ไฟล์ภาพและวีดีโอจาก SD card เข้าสู่ระบบ Catalog ของโปรแกรม หลังจากนั้น คัดเลือกไฟล์ที่ต้องการและไม่ต้องการออกจากฮาร์ดดิสก์ ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับภาพ รวมทั้ง Keyword แบบคร่าวๆ ลงในระบบ จะปรับแต่งภาพใด ก็ส่งไปทำในโปรแกรมแต่งภาพที่ต้องการ  เมื่อแต่งภาพเสร็จแล้ว ภาพนั้นก็จะนำกลับเข้ามาสู่ระบบของ DAM ตามเดิม พูดอีกนัยหนึ่ง คือ การแยกโปรแกรมบริหารจัดการไฟล์ภาพออกจากโปรแกรมแต่งภาพ เราจะใช้โปรแกรมแต่งภาพโปรแกรมไหนก็ได้ตามต้องการ แต่การจัดการเกี่ยวกับภาพทำในโปรแกรม DAM โปรแกรมเดียว


โปรแกรมประเภท DAM แท้ๆ นี้ความจริงก็มีไม่มากนัก ผมทดลองใช้มาหลายตัว ทั้ง NeoFinder เป็นโปรแกรมสำหรับ Mac เท่านั้น ใช้งานดีนะครับ แต่มันก็มีข้อจำกัดของมันอยู่  (ผมเคยเขียนถึง NeoFinder ไว้แล้วในบทความเรื่องการบริหารจัดการภาพถ่ายสำหรับงานภาพ Stock ตอนที่ 4 ที่อ้างถึงข้างต้น) โปรแกรมอีกตัว คือ Photo Supreme ซึ่งมีทั้งเวอร์ชั่น Windows และ Mac เคยทดลองใข้ แต่ผมว่าใช้งานยาก อ่านคู่มืออยู่ 2 วัน ก็ยังไม่เข้าใจดี ก็เลย uninstall ออกไป และสุดท้ายก็ คือ Photo Mechanic Plus ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ผมเลือกใข้


Photo Mechanic Plus


ผมใช้ Photo Mechanic (ไม่ใช่ Plus) มาตั้งแต่เวอร์ชั่น 5-6 อยู่แล้ว เพื่อจัดการเกี่ยวกับการนำภาพจาก SD Card เข้าสู่ External hard drive มาก่อน เพราะโปรแกรมตัวนี้ copy ภาพจาก SC card เข้าสู่ Hard drive เป้าหมายของเราแล้ว ที่เรียกว่า ingest ยัง copy อีกชุดหนึ่งเข้า Hard drive อีกตัวหนึ่งเพื่อ backup ไปพร้อมกัน หลังจากนั้น ก็ใส่ keyword เบื้องต้นไม่กี่คำฝัง (embed)ในไฟล์ RAW ซึ่งมีหลายคนให้ความเห็นว่า ไม่สมควรฝังข้อมูล Keyword ลงในไฟล์ RAW โดยตรง แต่โปรแกรมนี้ทำได้ หรือจะเลือกใช้ไฟล์ XMP ก็ได้ แต่ผมไม่เลือกวิธีนี้ แต่ใช้ฝังข้อมูลลงในไฟล์ RAW จำนวน 1 แสนกว่าภาพ ก็ยังไม่เคยเจอภาพเสียหายอย่างใด ขั้นตอนต่อมาคือคัดเลือกไฟล์ที่ไม่ต้องการลบออกไป หรือที่เรียกว่า culling แล้วนำภาพในไปตกแต่งในโปรแกรมที่ต้องการ เช่น DxO PhotoLab หรือ Luminar AI หรืออาจบวก Affinity Photo ไปด้วย แล้ว Export ไฟล์จากโปรแกรมแต่งภาพ เข้ามาสู่ระบบ Folder ของเราที่ได้วางไว้แล้วใน Photo Mechanic ซึ่งเวอร์ชั่นทั้ง 5 และ 6 มันไม่ใช่โปรแกรม DAM นะครับ เป็นเพียง Image Browser เท่านั้น ในขณะนั้น ผมจำเป็นต้องใช้ NeoFinder เป็น DAM ไปก่อน ความจริงเป็นก็โปรแกรมที่ดีตัวหนึ่ง แสดงไฟล์ได้ทุกประเภท ทั้ง doc, docs, pdf และไฟล์ภาพต่างๆ รวมทั้ง afphoto


ต่อมาหลังจากที่บริษัท Camera Bits ได้ออก Photo Mechanic 6 มาได้ไม่นาน ก็ได้ออกโปรแกรมตัวใหม่มา คือ Photo Mechanic Plus เป็นระบบ Catalog ใช้ Database เท่ากับว่ามีคุณสมบัติเป็นโปรแกรม DAM แบบ 100% สามารถสร้าง Collection แบบ Lightroom ได้ สามารถ Search ได้หลากหลาย มีระบบ Filter ให้แสดงเฉพาะไฟล์เฉพาะอย่างทั้งหมดได้ มีระบบ Browse เฉพาะไฟล์จากกล้องยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ เช่นเดียวกับเลนส์เฉพาะที่ Aperture เท่านั้นเท่านี้ เป็นต้น แสดงไฟล์วีดีโอได้ มี Video Player เป็นของตัวเอง บรรจุข้อมูล Metadata ชองไฟล์วีดีโอในไฟล์ XMP ได้ มีระบบใส่ keyword ที่สะดวกรวดเร็วที่สุด และใช้ Structured Keyword ได้ แก้ไข Exif ไฟล์ได้ เพิ่มเติมแก้ไขหัวข้อของ Metadata ได้ นำระบบ Collection มาใช้กับงาน Photo และ Video Stock ได้เกือบสมบูรณ์แบบ


โปรแกรมตัวนี้คนค่อนข้างรู้จักน้อย ยกเว้นบรรดาช่างภาพของสำนักข่าวต่างประเทศ และช่างภาพนักข่าวกีฬาของสำนักข่าวต่างประเทศ เพราะมัน Ingest ภาพได้ไว Load ภาพไว ใส่ข้อมูลภาพได้มาก ปรับแต่งหัวข้อของข้อมูลใน Metadata ได้ มีระบบ Template หรือ Preset ของระบบข้อมูล รวมถึงการใช้ code ต่างๆ ได้หลากหลาย ในการใส่ข้อมูลลงในภาพ มีปรับแต่งภาพได้เพียงแค่ crop ภาพ เพื่อรองรับงานไฟล์ภาพ Jpeg สำหรับช่างภาพข่าว ที่ต้องการความฉับไวในการส่งภาพและรายละเอียดของภาพให้กับสำนักข่าว นอกจากนี้ โปรแกรมตัวนี้มีฟังก์ชั่น FTP อยู่ในตัว กรณีช่างภาพสต็อกก็สามารถคลิกส่งไฟล์ภาพหรือไฟล์วีดีโอได้เลย นับว่าสะดวกมาก


ข้อที่ผมยังไม่ค่อยชอบมีอยู่ คือ การ Access แต่ละ Folder หรือ Collection เป็นไปในรูปแบบของ Tab ซึ่งผมอยากให้มี option เลือกได้ว่าให้แสดงเป็น Tab ใน Tab เดียวเท่านั้น แม้จะเลือก Folder หรือ Collection ใดก็ตาม เพราะข้อเสียของระบบ Tab คือ ถ้าเราแสดง Tab ไปเรื่อยๆ หลายๆ Tab มันจะทำให้งงและสับสนว่ามันเป็น Tab ของ Folder หรือ Collection ใด ซึ่งผมไมค่อยถูกใจในสิ่งนี้ เพราะต้องหมั่นปิด Tab อยู่เรื่อยไปถ้ามันแสดงหลาย Tab มากเกินไป


สุดท้ายหวังว่า ขัอเขียนนี้น่าจะมีประโยชน์กับผู้สนใจโปรแกรมแต่งภาพบ้าง วิธีที่ดีที่สุด คือ ต้อง download เวอร์ขั่นทดลองมาใช้ก่อนจะดีที่สุด เพื่อจะดูว่ามันใช่โปรแกรมที่ตรงตามความต้องการของเราหรือไม่ ถ้าซอฟต์แวร์ตัวใดไม่ให้ตัวทดลองใช้ แต่ระบุว่าจ่ายเงินก่อน หากไม่พอใจสามารถขอคืนเงินได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ตัดไปได้เลย เพราะถือว่าไม่ fair ที่ผมเขียนมาก็สรุปคร่าวๆ เท่านั้น รายละเอียดผู้อ่านต้องทดลองใช้งานด้วยตัวเอง ก่อนที่จะตัดสินใจต่อไป


ผมไม่ได้ระบุราคาค่าซอฟต์แวร์อะไรลงไป ยกเว้น Adobe เพราะซอฟต์แวร์หลายๆ เจ้า ราคาขึ้นลงอยู่เป็นประจำ บางตัวก็ลดราคาบ่อยมาก แต่ถ้าชอบโปรแกรมใดแล้วเห็นว่า ราคาแพงเกินไป จะรอช่วงเวลาที่เขาลดราคา วิธีการที่จะรู้ว่าช่วงไหนเขาลดราคา ก็ subscribe รับข้อมูลข่าวสารของเขาทางอีเมล์ หรือไม่ก็รอช่วงที่ลดราคาประจำปีที่อาจลดถึง 50% คือ ช่วง Black Friday ปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี อย่างปีนี้ก็ คือ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ส่วนใครที่คิดว่าราคาเรื่องเล็กมาก เพราะใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน อันนั้นก็แล้วไปนะครับ แต่ถ้าจะทำงานภาพและวีดีโอสต็อก ก็ไม่สมควรใช้ อาจมีปัญหาภายหลังได้


Link ข้างล่างเป็น website ของโปรแกรมทุกโปรแกรมที่ผมเขียนถึง คลิกดูรายละเอียดและราคาได้เลยครับ


Adobe Phoroshop & Lightroom

Affinity Photo 

Adobe Photoshop Elements

On1 Photo Raw

Skylum Luminar AI 

ACDSee

DxO PhotoLab 

Olympus Workspace 

Nikon Capture NX-D 

Canon Digital Photography Professional

Capture One Express (for Sony)

Capture One Express (for Fujifilm)

NeoFinder 

Photo Supreme 

Photo Mechanic Plus 

GIMP