Metadata ใน Affinity Photo

Metadata ใน Affinity Photo ในที่นี้หมายถึงเฉพาะ Affinity Photo บน Desktop เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึง Affinity Photo บน iPad ความจริงแล้ว Metadata ใน Affinity Photo มีมาตั้งแต่เวอร์ชั่น 1.8 แล้ว (เวอร์ชั่นปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียน คือ 1.10) ก็ถือว่าเป็นเรื่องเก่าแต่เอามาเล่าใหม่ บางคนคิดว่าเรื่อง Metadata ไม่ได้สำคัญอะไร แต่ผมคิดว่า ถ้าเราถ่ายรูปเล่นไม่ได้จริงจังอะไรกับมันมากนัก หรือถาพถ่ายเรามีน้อยมันก็อาจไม่ได้จำเป็นอะไรมากนัก แต่เมื่อใดที่เรามีภาพถ่ายจำนวนหลายหมื่นภาพขึ้นไป หรือเราเป็นคนที่มาหากินกับการถ่ายภาพ ไม่ว่าช่างภาพอาชีพ หรือช่างภาพงานอดิเรก ช่างภาพที่ขายภาพออนไลน์ Metadata ก็จะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญขึ้นมาทันที 

 

บทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาพรวมแนวความคิดเกี่ยวกับ Photo Metadata (เน้นเฉพาะภาพถ่ายเท่านั้น ไม่รวมถึง Metadata ของข้อมูลไฟล์อิเล็กทรอนิกส์อื่น) ว่ามันหมายถึงอะไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ส่วนที่ 2 คือ Metadata ใน Affinity Photo มันมีอะไรบ้างที่เราจะใช้งานมันได้

 

Metadata คืออะไร

Data เราก็อยู่แล้วว่าคือ ข้อมูล ส่วน Meta ตามรากศัพท์แล้ว หมายถึง above, beyond คือ นอกเหนือ หรือเกินกว่า สรุปให้สั้นลง Photo Metadata คือ ชุดข้อมูลของภาพถ่าย กำหนดให้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและการใช้ภาพถ่าย มีคุณลักษณะของภาพถ่าย เช่น ภาพนั้นถ่ายเมื่อใด ที่ไหน เป็นภาพเกี่ยวกับอะไร นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ tag ที่เป็นคำค้น หรือ keyword เพื่อค้นหาภาพถ่ายที่เราต้องการ แต่การที่จะได้มวลข้อมูลของภาพมา ไม่ใช่ว่าคอมพิวเตอร์หรือกล้องถ่ายภาพมันจะใส่ข้อมูลให้ภาพถ่ายได้เองทั้งหมด มันทำได้ในระดับหนึ่ง แต่เราต้องช่วยมันบรรจุข้อมูลรายละเอียดที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นด้วยตัวของเราเองด้วย metadata ของเราถึงจะสมบูรณ์

 

แล้ว metadata มันถูกเก็บไว้ที่ไหน ถ้าแบ่งแบบหยาบๆ ก็ 2 ที่ คือ เก็บไว้ภายในตัวไฟล์เอง กับเก็บไว้นอกไฟล์ หากแบ่งให้ละเอียดขึ้นหน่อย ก็ถือว่ามี 3 ที่ คือ ในตัวไฟล์เอง ในไฟล์พ่วงข้าง (sidecar file) และในระบบฐานข้อมูลของโปรแกรมแต่งภาพ 

 

การเก็บไว้ในต้วไฟล์เอง (Embedded in the file)

โดยเป็นการฝังข้อมูลไว้ในส่วนของหัวไฟล์ หรือที่เรียกว่า file header ซึ่งการเก็บไว้ในส่วนนี้ของไฟล์นั้น แยกส่วนออกจากตัวเนื้อไฟล์ภาพ โปรแกรมที่อ่านไฟล์ได้ก็อ่านได้ง่าย เพราะไม่ต้องไป decode ตัวไฟล์ทั้งไฟล์ น่าจะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมที่สุดแล้วสำหรับไฟล์ JPEG, PNG, DNG และ TIFF

การเก็บไว้ในไฟล์พ่วงข้าง (Sidecar file)

Sidecar file เป็น text file ธรรมดา ปกติก็ตั้งชื่อเหมือนกับตัวไฟล์ภาพ แต่นามสกุลไฟล์จะเป็น xmp ซึ่งเป็น format ของ Adobe อย่างไรก็ดี  sidecar file ไม่จำเป็นต้องเป็นไฟล์ xmp อาจเป็นไฟล์นามสกุลอื่นก็ได้ ซึ่งโปรแกรมแต่งภาพบางโปรแกรมอาจกำหนด file format ของตัวเองขึ้นมาเป็น sidecar file ก็ได้ โดยเฉพาะไฟล์ภาพที่มีลักษณะเป็น proprietary คือ ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทางด้านเอกสารของไฟล์ ความนิยมใช้ sidecar file เหตุผลหนึ่งเพราะหากบันทึกข้อมูลลงในตัวไฟล์ ก็เกรงว่าอาจจะทำให้ไฟล์ภาพนั้นเสียหายได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไฟล์ RAW โปรแกรมต่างๆ จะนิยมสร้าง sidecar file ให้ หรือกรณีไฟล์ที่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลลงไว้ในตัวไฟล์เองได้ เช่น ไฟล์วิดีโอ ก็จำเป็นต้องใช้ sidecar file เช่นกัน

การเก็บไว้ในระบบ database ของโปรแกรม

โปรแกรมที่มีคุณลักษณะแบบ Digital Asset Management (DAM) เช่น Lightroom สามารถเก็บบันทึก Metadata ของไฟล์ไว้ในระบบ Database ของตัวโปรแกรมเองที่เรียกว่า Library พูดง่ายๆ คือ โปรแกรมที่ใช้ระบบ Catalog ก็จะมี Database ของโปรแกรมเอง ซึ่งการใช้โปรแกรมลักษณะนี้มีข้อดี คือ สามารถค้นหาข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นสัดส่วน และสามารถ backup catalog ได้ง่าย

 

ส่วนประกอบของ Metadata

คำอธิบาย ปกติประกอบไปด้วย หัวข้อ (Title) คำอธิบายภาพ (Description)  คำค้น (Keyword) สถานที่ (Location) เหล่านี้เป็นต้น

สิทธิ คือ สิทธิของภาพถ่าย ใครเป็นคนถ่ายภาพ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ สิทธิการใช้งานของภาพถ่าย

การบริหารจัดการภาพ  วันเวลาที่ถ่ายภาพ คำสั่งสำหรับผู้ใช้ภาพ การกำหนดรายละเอียดงานสำหรับผู้ใช้ เหล่านี้เป็นต้น

 

การสร้าง Metadata

การสร้างหมายถึงการ generate metadata มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่กล้องสร้างขึ้นมาให้เองโดยอัตโนมัติ กับส่วนที่เราผู้ใช้เป็นคนบันทึกข้อมูลเอง

 

ส่วนที่กล้อง generate ข้อมูลให้

คือส่วนที่เราเรียกว่า EXIF คือ เป็นมาตรฐานของบริษัผู้ผลิตกล้องที่กำหนดให้กล้องบันทึกข้อมูลของการใช้กล้องไว้ในไฟล์ภาพถ่าย ผู้คิดค้น EXIF ขึ้นมา คือ สมาคมการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น (Japan Electronic Industries Development Association) โดยมีมาตั้งแต่ปี 1995 ก็ไม่น่าสงสัยนะครับว่าทำไมเป็นองค์กรของญี่ปุ่น เพราะกล้องดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมียอดขายทั่วโลกก็ล้วนเป็นกล้องถ่ายภาพยี่ห้อของญี่ปุ่นทั้งนั้น สมัยกล้องฟิล์มไม่มีข้อมูล EXIF โดย EXIF จะประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ Media Encoding เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของไฟล์ภาพ Color Space ของภาพ และขนาดของ Resolution กับส่วนของการตั้งค่ากล้อง เช่น วันเดือนปี ค่ารูรับแสง เลนส์ ค่า speed shutter เหล่านี้เป็นต้น

 

ส่วนที่ผู้ใช้เป็นผู้บันทึกข้อมูล

คือส่วนที่เรียกว่า IPTC ย่อมาจาก International Press Telecommunications Council ซึ่งเป็นองค์กรสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ ได้คิดระบบนี้ขึ้นมาในช่วงต้นของยุค 1990 และพัฒนาเรื่อยมา แล้วกลายเป็นองค์กร IPTC ผู้กำหนดมาตรฐานระบบข้อมูลของสื่อมวลชนข่าวสาร องค์กร IPTC ยังทำงานร่วมกับ Adobe ในการกำหนดข้อมูลทางเทคนิคของ Metadata เพื่อใช้งานกับไฟล์ XMP ของ Adobe

 

IPTC ปกติแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ IPTC Core และ IPTC Extension โดย IPTC Core เป็น IPTCที่เป็นหลักดั้งเดิมอยู่เป็นมาตรฐานที่ Metadata ต้องมี กับ IPTC ส่วนที่ขยายรายละเอียดของข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ อาทิ มี field เกี่ยวกับคำอธิบายเพิ่มเติม เช่น Person shown, Event, Organization shown มี field เพิ่มในส่วนของ Artwork or object shown in an image มี field เกี่ยวกับ Model Information มี field เกี่ยวกับ Administrative and Licensing information เหล่านี้เป็นต้น ปกติซอฟต์แวร์แต่งภาพหรือบริหารจัดการภาพก็ใช้ IPTC ท้ัง 2 ส่วนอยู่แล้ว แต่ส่วนของ IPTC Extension ซอฟต์แวร์บางตัวอาจนำมาใช้ไม่หมด คือ ใช้เท่าที่โปรแกรมนั้นเห็นว่าจำเป็นเท่านั้น อย่างโปรแกรม Photo Mechanic ซึ่งเป็นโปรแกรม DAM สำหรับสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อมวลชน ที่นำ IPTC มาใช้แบบมีรายละเอียดครบถ้วนทุกอย่างตามมาตรฐาน IPTC หรือโปรแกรมอย่าง Photoshop เอง ก็มี Metadata ที่ค่อนข้างละเอียดเช่นกัน หากเทียบกับ Affinity Photo ก็ถือว่าละเอียดกว่ามาก

 

Metadata ใน Affinity Photo 

การเปิดใช้งาน Metadata ให้ไปที่เมนู View/Studio/Metadata ก็สามารถเปิดใช้งาน Metadata Panel ได้ โดย Metadata Panel ได้แบ่งเป็น Category ได้ 7 ประเภท ดังนี้ 

– File

– EXIF

– IPTC (Image)

– IPTC (Contact)

– Rights

– Detail

– Raw data

ภาพตัวอย่างด้านล่างแสดงภาพ Metadata Panel ของไฟล์ภาพทั้ง 7 Category  

 

ภาพล่างเป็น Category ในส่วน Detail และ Raw data ซึ่งก็คือ การแสดงเนื้อหาของไฟล์ XMP

 

 
 รายละเอียด Metadata ทั้ง 7 category ประกอบด้วยอะไรบ้าง ขออธิบายสั้นๆ พร้อมกับข้อคิดเห็นบางประการ ดังนี้

 

– File

เป็นการสรุปเนื้อหาไฟล์ภาพและผู้ถ่ายภาพ ข้อมูลประกอบด้วย Title, Author, Author Title, Description, Description Writer, Keywords และ Rating ใน category นี้ ทุก field สามารถเขียนบันทึกลงไปได้ แก้ไขได้ ข้อเสียน่าจะอยู่ที่ช่องข้อมูล (field) Keywords เป็นช่องบรรทัดเดียว แทนที่จะออกแบบให้เป็นช่องหลายบรรทัดแบบช่อง Description ถึงแม้จะพิมพ์ Keyword เรียงไปเรื่อยๆ ได้ แต่การแสดง Keyword กลับมองไม่เห็นว่าได้พิมพ์อะไรไปบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่ขายภาพออนไลน์ที่จำเป็นต้องใส่ Keyword ซึ่งสามารถใส่ได้ถึง 40-50 คำ ในขณะที่พิมพ์ Keyword ไป หากจะตรวจสอบว่า Keyword นี้ได้พิมพ์ไปหรือยัง ตรวจสอบได้ยากต้องเลื่อน cursor เพื่อดูคำที่พิมพ์ไปแล้ว นับว่าไม่สะดวกอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี มันมีทางออกในระดับหนึ่งโดยไปเลือก Category Detail ตรงหัวข้อ Subject จะแสดง Keyword ทั้งหมดที่เราพิมพ์ไว้ พร้อมแสดงหมายเลขและจำนวนคำไว้ด้วย แต่ Category Detail นั้น มันเป็นข้อมูล Read Only เท่านั้น แก้ไขพิมพ์อะไรไม่ได้ ต้องกลับไปทำใน Category File ถ้าหากจะแก้ไขคำผิดหรือลบ Keyword บางคำ ก็จะยุ่งยากเสียเวลาทีเดียว 

 

– EXIF

เป็นข้อมูลสรุปของการตั้งค่ากล้องในการถ่ายภาพรูปนั้น ข้อมูลประกอบด้วย Camera, Maker, Lens, Date Shot, Size, Exposure, Aperture, ISO, Focal Length, Exp. Bias, Exp. prog, Metering, Flash Fired ซึ่งในส่วนขออง EXIF นี้ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลอะไรได้ใน Affinity Photo ถือว่าเป็นข้อมูลแบบ Read Only โปรแกรมบางตัวอนุญาตให้แก้ไขข้อมูลในส่วนของวันเวลาเดือนปีได้ อย่างเช่น Lightroom แต่ใน Affinity Photo มันทำไม่ได้ ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการแก้ไข EXIF ในส่วนของวันเวลาเดือนปีได้ ก็ต้องตอบว่าจำเป็นครับ ยกตัวอย่างเราไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถ่ายภาพในประเทศนั้น แต่เราลืมเปลี่ยนวันเวลาให้ตรงกับวันเวลาในประเทศนั้น ภาพที่ได้มันก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น เวลาในภาพถ่ายเป็น 4-5 ทุ่ม แต่ในภาพกลับเป็นภาพกลางวันแดดยังเปรี้ยงอยู่ มันจึงควรอนุญาตให้แก้ไขวันเวลาใหม่ได้ให้ถูกต้องเสีย

 

– IPTC (Image)

เป็นข้อมูลสำหรับการอธิบายเนื้อหาสาระของภาพ สถานที่ที่ถ่ายภาพ ใครเป็นเจ้าของภาพ ข้อมูลเครดิตของภาพหากถูกนำไปใช้ Job ID คือ หมายเลขของงาน และคำสั่ง ซึ่งปกติก็ใช้งานโดยองค์กรสื่อมวลชนหรือเอเจนซี่สำหรับภาพถ่าย โดยข้อมูลประกอบด้วย Headline, Location, City, Region, Country, ISO Country Code, Source, Credit, Genre, Subject Codes, Scenes, Job ID, Instruction โดยข้อเท็จจริง ก็ไม่ได้จำเป็นต้องใส่ข้อมูลทุกอย่าง ก็แล้วแต่เราจะพิจารณา ทุก field สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หมด

 

– IPTC (Contact)

ชื่อก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลสำหรับการติดต่อผู้สร้างผลงานภาพ โดยรายละเอียดประกอบด้วย Address, City, Region, Postcode, Country, Phone, Email และ Website ทุก field สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้  field บางข้อก็ซ้ำกับใน IPTC (Image)

 

– Rights

เป็นข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของลิขสิทธิ์ภาพ การอนุญาตให้นำภาพไปใช้ภายใต้กรอบเงื่อนไขมากน้อยเพียงใด หรือที่เรียกว่า Creative Commons (CC) License และที่อยู่เว็บไซต์ของภาพลิขสิทธิ์นั้น โดยช่องข้อมูลประกอบไปด้วย Copyright, Statement, URL, CC, More Perms URL, Attribution URL และ Attribution Name ทุก field สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

 

– Detail

แสดงรายละเอียดของข้อมูลทั้งหมดใน category ต่างๆ และยังรวมถึงข้อมูลว่าเราใช้ซอฟต์แวร์ตัวใด เวอร์ชั่นไหนด้วย โดยมีการจัดแบ่งข้อมูลเป็น 2 คอลัมน์ คือ Key และ Value โดยเป็นข้อมูลแบบ Read Only

 

– RAW data

แสดงข้อความทั้งหมดของไฟล์ XMP ไม่จำเป็นต้องนำไฟล์ XMP ไปเปิดในโปรแกรมอื่น คลิกเลือก RAW data โปรแกรมก็จะแสดงข้อความของไฟล์ XMP ให้เห็น แม้ว่าเราจะไม่เลือกเก็บ Metadata ไว้เป็นไฟล์ XMP ก็ตาม

 

การ import/export XMP

เรื่องของการ import/export XMP ที่มุมขวาด้านบนของ Metadata Panel จะมีเมนูย่อยให้เลือก Import from XMP และ Export to XMP หลักการ คือ เราสามารถ export ข้อมูล Metadata ไปเก็บไว้ในโฟลเดอร์ที่เรากำหนดไว้ แล้วนำกลับมาใช้กับไฟล์ภาพอื่นที่เป็นภาพคล้ายๆ กัน โดย import ไฟล์ XMP นั้น มาบรรจุลงในไฟล์ใหม่ของเรา ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาไม่ต้องมาลงข้อมูลใหม่ หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็เพียงเล็กน้อย ซึ่งนับว่าสะดวกและประหยัดเวลา นอกจากนี้ เรายังสามารถ export ข้อมูลใน Metadata ทั้งหมด หรือเฉพาะบางส่วน ก็เลือกบันทึกได้ เช่นบันทึกเฉพาะ File, IPTC และ Rights ไว้เป็นไฟล์ XMP ในลักษณะของ Preset แล้วนำกลับมาใช้ได้ตลอดโดยการ import กลับเข้ามา

 

สุดท้าย ในเมนูย่อยที่มุมขวาด้านบนของ Metadata Panel ยังมีเมนูย่อย Strip GPS Location และ Strip All EXIF ด้วย ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของภาพ ที่บางครั้งไม่ต้องการให้ข้อมูลภาพแก่ผู้อื่น ก็ใช้เมนูนี้ นอกจากนี้ ในกรณี export file ก็สามารถสั่งให้โปรแกรมไม่ฝังข้อมูลลงในไฟล์ก็ได้ โดยไม่คลิกเลือก Embed Metadata


อนึ่ง Metadata Panel นี้สามารถใช้ได้ทั้งใน Develop และ Photo Persona แต่ใน Develop Persona โดยที่ไฟล์ภาพเป็นไฟล์ RAW โปรแกรมจะไม่ฝังข้อมูลไว้ใน file header ของไฟล์ RAW เมื่อเรากดเลือก Develop หลังจากปรับแต่งภาพและ/หรือลงรายละเอียดของ Metadata แล้ว ไฟล์ RAW จะถูกแปลงเป็นฟอร์แมต afphoto ซึ่งในกรณีนี้ เราสามารถฝังข้อมูล Metadata ไว้ในส่วนของ file header ได้

 

สรุป แม้ว่า Metadata ของ Affinity Photo จะไม่ใช่ Metadata ที่ดีที่สุดหากเทียบกับโปรแกรมบางโปรแกรม แต่ก็นับว่ามีประโยชน์อยู่ แม้ว่าจะมีจุดด้อยอยู่บ้างดังที่กล่าวไว้ คือ ไม่สามารถแก้ไขวันเดือนปีและเวลาของภาพถ่ายในใน EXIF และมีขนาดของช่องบันทึก Keyword เป็นช่องบรรทัดเดียวก็ตาม โดยส่วนต้วแล้ว ผมไม่ได้บันทึกข้อมูล Metadata ผ่าน Affinity Photo เพราะใช้โปรแกรมอื่นที่ทำงานโดยตรงในส่วนของการบริหารจัดการไฟล์ภาพ แต่บางครั้งก็ใช้พิมพ์ Keyword เพิ่มเข้าไปในระหว่างใช้งาน Affinity Photo เนื่องจากเผอิญนึกขึ้นได้ว่าควรมีคำนั้นคำนี้ หรือพิมพ์ข้อความอื่นเพิ่มเติมเข้าไปบ้างในบางครั้ง อย่างไรก็ดี หากใครไม่ได้ใช้โปรแกรมตัวอื่นในการบันทึก Metadata การใช้ Affinity Photo ก็นับว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าไม่สามารถจะบันทึกในลักษณะเป็น Batch file ได้ก็ตาม เนื่องจากวิธีการใช้งานของโปรแกรมมันต้องเปิดไฟล์บันทึกข้อมูลทีละไฟล์ ซึ่งส่วนนี้ไม่ถือว่าเป็นจุดด้อย เพราะการทำงานของโปรแกรมแบบนี้ มันก็ต้องทำแบบนี้แหละครับ