ปัญหาทางม้าลายอันตราย

Photo by Kaique Rocha from Pexels

ปกติบล็อกของผมนี้เป็นบล็อกความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมทั้งแสดงภาพที่ผมได้ถ่ายไว้ ไม่เคยเขียนเรื่องอะไรอื่นนอกเหนือจากนี้ไปเลย แต่ครั้งนี้จำต้องมาเขียนเกี่ยวกับเรื่องปัญหาของทางม้าลาย ก็สืบเนื่องมาจากข่าวที่น่าสลดใจ กรณีหมอกระต่ายถูกรถมอเตอร์ไซด์ Big Bike พุ่งชนบนทางม้าลายจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ข่าวที่น่าเศร้านี้ได้สร้างกระแสรณรงค์เกี่ยวกับการข้ามถนนบนทางม้าลายเกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้ผมต้องขอร่วมรณรงค์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยของการข้ามทางม้าลาย แม้จะเป็นเสียงหนึ่งเพียงเสียงเดียวก็ตาม ซึ่งข้อเสนอของผมก็เกี่ยวข้องอยู่กับกล้องถ่ายภาพอยู่เช่นกัน จะว่าไม่เกี่ยวอะไรเอาเลยก็ไม่ได้ และก็เป็นข้อเสนอที่ผมยังไม่เห็นใครเสนอมาแบบที่ผมเสนอ

ถ้าใครติดตามข่าวก็จะเห็นว่ามีความพยามในเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎจราจร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือทางองค์กรเอกชนก็ตาม  ผมขอยกตัวอย่างตามที่หาข้อมูลข่าวสารมาได้ ดังนี้

 

– โครงการอาสาตาจราจร ให้ประชาชนทำหน้าที่พลเมืองดีตรวจตราการกระทำผิดจราจร โดยส่งคลิปหน้ากล้องหรือคลิปจากมือถือบันทึกการทำผิดกฎจราจร โดยส่งไปที่ศูนย์โซเชี่ยลมีเดีย ศปก.ตร. หรือสถานวิทยุ สวพ.91 หรือ จส.100 หรือเว็บไซต์มูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งจะรวบรวมส่งต่อไปยังสถานีพื้นที่ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งโครงการนี้จะมีรางวัลให้เดือนละ 10 คลิป ตั้งแต่คลิปละ 2,000 – 20,000 บาท ซึ่งมาจากการคัดเลือกคลิปโดยมูลนิธิเมาไม่ขับ พร้อมทั้งจัดหารางวัลให้ด้วย อันนี้ผมเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่ง เพียงแต่การตรวจตราการทำผิดครอบคลุมอยู่แค่เพียง 4 ข้อหาเท่านั้น คือ ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าฝืนสัญญาไฟจราจร ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวไม่มีข้อหาเกี่ยวกับไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย และผมก็ไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะยั่งยืนหรือไม่ เพราะต้องหาเงินรางวัลให้ผู้แจ้งเบาะแสเดือนละ 50,000 บาท และการพิจารณาเงินรางวัลให้ผู้แจ้งจำต้องมีการคัดเลือกคลิป ผู้ที่แจ้งไม่สามารถคาดเดาได้แน่นอนว่าตนเองจะได้รับเงินรางวัลหรือไม่ เพราะเงินรางวัลมีจำกัด

(คลิก Link ไปยังข่าวจากเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์)

 

– คณะกรรมการนโยบายการป้องกันอุบัติเหตบนท้องถนน เป็นโครงการของรัฐบาลซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน กำลังจะหาทางวางมาตรฐานดูแลทางม้าลายทั่วประเทศเพือให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาว รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย หลังเกิด “โศกนาฏกรรมหมอกระต่าย สำหรับกรุงเทพฯ จะมีการติดตั้งเครื่องหมายสัญญานไฟทางม้าลาย รวมถึงกล้องตรวจจับ พร้อมจะประเมินว่า จุดไหนต้องปรับปรุงอย่างไร จุดไหนเสี่ยงมาก็จะยกเลิกทางม้าลายนั้น ส่วนที่ต่างจังหวัด จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมกับท้องถิ่น พร้อมจะประเมินว่า ถ้าจุดไหนไม่มีมาตรฐานต้องปรับปรุงอย่างไร จุดไหนไม่เหมาะสมหรือมีความเสี่ยงมากก็จะยกเลิกหรือปรับย้ายทางม้าลายออกไป

 

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกได้ร่วมยกร่างระเบียบระบบตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการต่อไป ก่อนจะอนุมัติและบังคับใช้ได้ในเดือน .. 2565 มีการเสนอเพิ่มโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,000 บาท

(คลิก Link ไปยังข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

 

– ในส่วนของกทม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ปลายปีที่แล้ว กทม. ประกาศโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดดังกล่าวต่อ กทม.ผ่านทาง Facebook หรือ Line ของสำนักเทศกิจ กทม. ซึ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดแล้ว ประชาชนที่แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่งค่าปรับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าปรับด้วย

(คลิก Link ไปยังข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)

 

นอกจากนี้ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหน่วยงานเดียวที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ แต่ยังรวมถึง กทม. กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานระดับจังหวัดอีกด้วย ที่จะดำเนินการในส่วนที่แต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น แยกอโศกมีการนำกล้อง ai เก็บข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายฝ่าฝืนไฟแดง จอดคร่อมทางม้าลาย ซึ่งพบว่ามีผู้กระทำผิดจำนวนมาก

 

โดยรวมก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันว่า เมืองไทยเราเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา การแก้ปัญหาก็เป็นแบบไฟไหม้ฟาง นานๆ ไปก็เละเหมือนเดิมอีก มันเป็นวัฏจักรแบบนี้ทุกทีไป ดูได้เวลาหน้าเทศกาล ไม่ว่าปีใหม่หรือสงกรานต์ จะเห็นว่ารัฐบาลก็รณรงค์กันทุกปีเพื่อลดอุบัติเหตุ แต่ทุกปีก็เกิดอุบัติเหตุมากเท่าๆ กัน ไม่ได้ลดน้อยลงแบบเห็นผลชัดเจน ยกเว้นปีแรกที่โควิด-19 ระบาดหนักเท่านั้น แสดงว่าการรณรงค์มันไม่ได้ผลอะไรเลย แม้ปีใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง 5% รัฐบาลดีใจมากว่าทำได้ตามเป้า ผมเห็นว่าไม่น่าดีใจอะไร มันเสมือนภาพลวงตามากกว่า ปีใหม่ที่เพิ่งผ่านมา คนไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดไม่ได้มากเหมือนเมื่อหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพราะยังกลัวโอมิครอนกันอยู่ สังเกตดูได้จากถนนในกรุงเทพฯ ไม่ได้โล่งแบบที่เคยโล่งในเทศกาลปีใหม่

 

ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 1 ในเอเชียนะครับที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด นับว่าเป็นสถิติยอดแย่และห่วยแตกจริงๆ และที่น่าตกใจกว่านั้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2559 – 2564 มีประชาชนคนเดินถนนต้องประสบเหตุจากการเดินข้ามถนนสูงมากถึง 224,068 คน เฉลี่ยต่อปี กว่า 41,000 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากรถจักรยานยนต์ ชนคนข้ามถนน หรือคนเดินเท้าจนได้รับบาดเจ็บที่ทั้งเล็กน้อยไปถึงสาหัส และเสียชีวิต

 

นอกจากนี้ รายงานพิเศษโครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE) สะท้อนความจริงของผู้เปราะบางบนถนน (VRUs) ปี 2562 ระบุว่า จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงในช่วงปี 2556 – 2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูง ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ที่จัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง

(คลิก Link ไปยังข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

 

แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ที่เขียนมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นว่าในระดับรัฐบาลเขาก็ทำอยู่ ก็คงได้ผลในระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังแก้ไม่ได้หมด ซึ่งก็อ่อนใจจริงๆ ปัญหาหลักมีอยู่ 2 ประการ คือ วินัยการจราจรของคนไทย กับการบังคับใช้กฎหมาย คนไทยไม่มีวินัยไม่มีสำนึก มันแก้ไม่ได้หรอก ผมเห็นพูดกันทำนองนี้บ่อยมาก และก็พูดว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผลอะไรหรอก ถามจริงๆ เราเคยได้ยินข่าวบ้างไหมว่า ตำรวจจับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ยอมหยุดเมื่อมีคนจะข้ามถนนตรงทางม้าลาย ไม่มีเลยครับ ไม่เคยมีข่าวแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งความจริงแล้วกฎจราจรก็ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า รถจะต้องหยุดรอเพื่อให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย  หรือแม้แต่กรณีที่ให้รถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด แต่ตรงช่วงที่เลี้ยวซ้ายนั้น ถนนบางแห่งมีทางม้าลายพร้อมไฟเขียวสำหรับคนเดินเท้าให้ข้ามได้ แต่คนเดินเท้าส่วนใหญ่ก็ต้องรอให้รถเลี้ยวผ่านไปก่อน น้อยครั้งที่รถที่กำลังเลี้ยวจะหยุดให้คนเดินผ่านไปก่อน การเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดไม่ใช่ใบเบิกทางว่าทำได้ตลอดเวลา ต้องดูว่าถ้ามีทางม้าลายและคนเดินเท้าได้สัญญานไฟเขียว รถก็ต้องหยุดให้เขาไปก่อน

ประเด็นเรื่องวินัยจราจร ผมไม่เชื่อว่าคนไทยจะไม่มีวินัยจราจร ผมว่ามีได้ครับ ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ผมยกตัวอย่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ประมาณ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ ผมนั่งรถตู้จากหาดใหญ่ไปปีนัง ประเทศมาเลเซีย คนขับรถตู้ขับรถจากหาดใหญ่เพื่อไปที่ด่านนอก อำเภอสะเดา ขับด้วยความเร็วสูงมาก ไล่จี้รถข้างหน้าที่ขับช้ากว่า เล่นเอาหวาดเสียวว่าจะไปชนท้ายรถคันหน้า เอาแต่ขับจี้และปาดหน้ารถที่ช้ากว่า  แต่พอเข้าเขตมาเลเซียที่ด่านจังโหลนแล้ววิ่งบนทางด่วน คนขับรถกลับเปลี่ยนพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังเท้าทันที วิ่งที่ความเร็ว 80 กม./ชม. และวิ่งเลนซ้ายตลอด พอคันข้างหน้าวิ่งช้ากว่า ก็หักออกเลนขวา พอแซงได้แล้วก็วิ่งเข้าเลนซ้ายทันที ถามว่าทำไมเขาเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนขับรถดีขึ้นมาทันที ไม่มีอะไรมากครับ ก็เพราะการบังคับใช้กฎหมายของมาเลเซียเข้มแข็งเอาจริงกับผู้กระทำความผิดนั่นเอง

 

ดังนั้น การจะทำให้คนไทยรักษาวินัยในการใช้รถใช้ถนน มันจึงเป็นไปได้ครับ แต่ต้องประกอบไปด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต้องทำต่อเนื่องแบบถาวร ไม่ใช่แบบไฟไหม้ฟาง ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายจราจรให้ได้ผลนั้น ในข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งก็เห็นใจในกำลังพลของตำรวจด้วย เราคงไม่มีกำลังตำรวจมากพอที่จะทำหน้าที่ตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิด แล้วจะทำอย่างไร คำตอบก็ต้องใช้ประชาชนเป็นแสนเป็นล้านคน นี่แหละครับเข้ามาช่วยตรวจตราแทนถึงจะทำได้

 

วิธีการ คือ ต้องบูรณาการโครงการงานแก้ไขปัญหาจราจรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร ส่วนราชการในต่างจังหวัด เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โครงการ กทม. ที่ให้ประขาชนแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดจอดหรือขับขี่ยานพานะบนทางเท้า โครงการอาสาตาจราจร ปัญหารถยนต์ดัดแปลงป้ายทะเบียนรถ ปัญหาแท็กซี่ดัดแปลงมิเตอร์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกให้ประชาชนแจ้งเบาะแสได้เช่นกัน อะไรเหล่านี้ จับมารวมเป็นโครงการเดียวกันไปเลย โดยรัฐบาลจะต้องสร้าง App เป็นการเฉพาะขึ้นมาให้ประชาชนผู้จะชี้เบาะแสได้ใช้งาน

 

ผู้ใช้ App ทำหน้าที่คล้ายๆ อาสาจราจร ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าในการสมัครใช้ App มีการยืนยันตัวตนชัดเจน โดยใน App ต้องมีตัวเลือกระบุข้อหาให้ชัดเจนว่าผิดข้อหาไหน อย่างน้อยต้องมีข้อหาไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายด้วย ผู้ใช้ App สามารถติ๊กเลือกได้ว่า พบผู้กระทำผิดข้อหาใด จะส่งเป็นคลิปวีดีโอ หรือภาพนิ่งก็มีช่องให้คลิกเลือกได้ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าความผิดใดต้องส่งเป็นคลิป ความผิดใดส่งเป็นภาพนิ่งได้ และที่สำคัญเหตุเกิดเมื่อใด ที่ไหน แล้วคลิกส่งข้อมูลผ่าน App ทันที ไม่ต้องกรอกข้อมูลของผู้ส่งให้เสียเวลา เพราะเมื่อลงทะเบียนใข้ App มันมีข้อมูลของผู้ใช้อยู่ในฐานข้อมูลแแล้ว มันก็จะสะดวกในการแจ้งข้อมูล ไม่ใช่แจ้งส่งทาง Line บ้าง ทาง Facebook บ้าง ทาง จส.100 บ้าง ทาง สวพ.91 บ้าง ดูแล้วมันเป็นการต่างคนต่างทำดูแล้วไม่มีเอกภาพอะไรเลย  แบบว่าหน่วยงานใครหน่วยงานมัน โดยใน App มีหมายเลขพร้อมเพย์ หรือเลขบัญชีในธนาคารของผู้ใช้ App เพื่อพร้อมในการรับเงินส่วนแบ่งค่าปรับ

 

ถ้าเราสามารถบูรณาการได้ โดยหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดูแลการกระทำความผิด จะทำหน้าที่กระจายหรือส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความผิดข้อไหนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจก็ส่งไปให้ตำรวจ ข้อไหนเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. ก็ส่งต่อให้ กทม. ข้อไหนเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ก็ส่งต่อให้กรมการขนส่งทางบก รัฐบาลเพียงแค่ลงทุนในการสร้าง App และสร้าง Server สำหรับ App ตัวนี้ และให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจัดเจ้าหน้าที่ดูแลการรายงานข้อมูลของประชาชนที่ใช้ App นี้ เงินรางวัลส่วนแบ่งก็จัดแบ่งไปให้อาสาสมัคร เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าปรับจากผู้กระทำผิด โดยรัฐบาลไม่ต้องไปหาเงินหรือใช้งบประมาณอะไรที่ไหนมาให้อาสาสมัคร ไม่ต้องไปรบกวนขอสปอนเซอร์จากบริษัทหรือองค์กรใด ยิ่งคนตกงานเศรษฐกิจตกต่ำ มีคนเป็นหมื่นเป็นแสนหรือเป็นล้านอยากเป็นอาสาสมัครจราจรแน่นอน โดยใช้เครื่องมือเพียงอย่างเดียวคือโทรศัพท์มือถือเท่านั้น เอาแค่ถ่ายรถที่ไม่จอดให้คนกำลังจะข้ามทางม้าลาย ผมว่าวันหนึ่งๆ อาจถ่ายได้เป็นร้อยๆ คลิป ประกอบเป็นอาชีพได้เลย รายได้จะดีกว่าเอาโทรศัพท์มือถือไปถ่ายภาพ Stock ขายออนไลน์เสียอีก ตำรวจเองก็ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาคอยจับกุมผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนคนที่จะกระทำความผิดก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถูกคนจับภาพการกระทำผิดไว้ได้ และถ้าความผิดในกระทงเดียวกันแต่มีผู้ส่งคลิปหลายคน ในเมื่อมันเป็น App มันก็ตรวจสอบเวลาง่ายมาก ใครส่งก่อนคนนั้นก็มีสิทธิรับเงินส่วนแบ่งค่าปรับ

 

เคยเห็นไหมครับ เจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจดูป้ายวงกลมรถว่าไปต่อทะเบียนหรือยัง ไม่ต้องเสียเวลาไปตั้งด่านทำอะไรที่ดูแล้วเป็นวิธีโบราณแบบไดโนเสาร์ เพราะจับได้แต่ละครั้งแค่ไม่กี่สิบคน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอาสาสมัครเช็คดูป้ายวงกลมเถอะ ถ้าป้ายวงกลมหมดอายุแล้ว ก็ถ่ายรูปถ่ายคลิปส่งผ่าน App ไปทันที ถ้าคิดค่าปรับรายละ 200 บาท อาสาสมัครก็ได้แล้ว 100 บาทสำหรับงานง่ายๆ แบบนี้ เดินเช็คป้ายวงกลมรถที่จอดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งๆ ก็อาจจะได้หลายพันบาท หรือจะถ่ายภาพทะเบียนรถป้ายแดง ที่ใช้จนรถเก่าแต่ไม่ไปเสียภาษีเปลี่ยนป้ายเสียที รัฐเองก็จะได้เงินค่าภาษีป้ายวงกลมเต็มเม็ดเต็มหน่วยและรวดเร็วขึ้น

 

กลับมาในเรื่องของทางม้าลาย ในส่วนที่ทางภาครัฐกำลังทำอยู่ ก็ทำไปครับ ไม่ว่าเรื่องการปรับปรุงสัญญานไฟ ปรับปรุงขยายขนาดทางม้าลาย การนำกล้อง ai เข้ามาใช้ ทำป้ายสัญญานให้ชัดเจน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ App อาสาจราจรก็ทำให้เกิดขึ้นให้ได้ด้วย จะทดลองใช้งานเป็นจุดๆ ก่อนก็ได้ ไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด การปรับในการทำผิดเริ่มปรับตั้งแต่น้อยๆ ค่อยๆ เปลี่ยนเงินค่าปรับเป็นหนักขึ้นต่อไปก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนค่อยๆ ปรับตัว อะไรเหล่านี้ก็แล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควร และลงรายละเอียดว่าจะใช้กับข้อหาใดบ้างถ้าเผื่อเห็นชอบในหลักการ ผมเพียงแค่เสนอไอเดียเบื้องต้นคร่าวๆ เท่านั้น

 

ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ไอ้คำว่า “เมาไม่ขับ” เลิกใช้เถอะครับ ผมเคยเห็นในต่างประเทศเขาใช้คำว่า “Drink Don’t Drive” คือ “ดื่มไม่ขับ” เพราะคนที่ดื่มเกือบทุกคนจะบอกว่ายังไม่เมา ยังไม่มาว ขาบรถด้าย และอีกเรื่อง คือ สะพานลอยข้ามถนนที่ทั้งชันทั้งแคบ ขั้นบันไดก็สั้นมาก เดินขึ้นลำบาก เดินลงก็หัวจะคะมำ ผมแนะนำให้ กทม. ไปดูงานที่ประเทศจีนเถอะครับ ผมเคยทำงานอยู่ที่จีน 3 เมือง คือ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และหนานหนิง ส่วนใหญ่สะพานกว้างขวางใหญ่โต มีทางเข็นจักรยานขึ้นบนสะพานลอยได้ สะดวกและเป็นมิตรต่อผู้ใช้มาก เดินขึ้นไม่รู้สึกเมื่อยขา 

 

สุดท้าย มีอีกเรื่องเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย สมัยที่ทำงานอยู่ที่กว่างโจว ผมจำได้ว่ามีคณะจาก กทม. ไปดูงานที่เทศบาลนครกว่างโจว ซึ่งผมเป็นผู้ประสานงานให้ หลังจากฟังคำบรรยายจากฝ่ายจีนแล้ว ฝ่ายไทยได้ถามเขาว่า ทางเทศบาลกว่างโจวมีวิธีแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าในเมืองได้อย่างไร เนื่องจากไม่เห็นหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าเลย (ความจริงก็มีแอบวางขายประปรายอยู่บ้าง) ทางเทศบาลกว่างโจวเขาตอบสั้นๆ ว่า ก็จับสิ ถ้ามาวางขายอีก ก็จับอีก