คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษนำมาใช้ในภาษาไทยมีมากมายหลายวงการ คำบางคำเรียกได้ว่าพูดกันจนคิดกันว่ามันเป็นภาษาไทยไม่ใช่คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และแน่นอนการออกเสียงคำทับศัพท์ก็ออกเสียงแบบไทย คือ เป็นแบบภาษาไทย ไม่ใช่ออกเสียงแบบภาษาอังกฤษแท้ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้มันเป็นเรื่องการเขียน/การออกเสียงคำทับศัพท์ที่ไม่ตรงคำภาษาอังกฤษแท้ๆ
คำที่ชัดเจนที่สุดที่เข้าข่ายลักษณะที่ว่ามานี้ เป็นคำทับศัพท์ที่ใช้อยู่ในวงการช่างยนต์ คือ ช่างรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ คำนั้น คือ โช้คอัพ ซึ่งหมายถึง ส่วนอุปกรณ์ที่รองรับการกระแทกของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หรือแม้แต่รถจักรยานประเภทเสือภูเขาก็มีโช้คอัพใช้ และผมก็คิดว่าคนหลายๆ คน คงเข้าใจไปว่า คำว่า โช้คอัพ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า choke up ซึ่งไม่ใช่นะครับ แต่มาจากคำว่า shock absorber ไม่รู้ว่าทำไมคำทับศัพท์คำนี้ถึงเพี้ยนออกไปไกลขนาดนั้น ถ้าจะให้เดา ก็คิดว่าช่างยนต์ในสมัยก่อนนั้น เห็นคำภาษาอังกฤษว่า shock ก็คิดเอาเองว่าคำนี้ออกเสียงว่า โช้ค และ absorber ก็ออกเสียงว่า อัพซอฟเบอร์ แต่พอรวมกันเป็น โช้คอัพซอฟเบอร์ มันยาวไป และจำยาก เลยเรียกให้สั้นลงเป็น โช้คอัพ อีกคำที่ใช้ในวงการช่างรถยนต์ คือ คัสซี ซึ่งหมายถึงโครงรถหรือเฟรมของรถยนต์ตามความยาวของตัวถังรถ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า chassis ซึ่งออกเสียงว่า แชสซี หรือ ชาสซี ไม่ใช่คัสซี และอีกคำที่ใช้ในวงการช่างทั่วๆไป คือ ซากูไร เราอาจจะเคยได้ยินช่างบางคนเรียกคำนี้ ซึ่งหมายถึง ไขควง แต่สงสัยว่าคำว่าซากูไรมาจากภาษาอะไร ก็ตอบว่าภาษาอังกฤษ คือ screwdriver มันออกเสียงยากนัก ช่างทั้งหลายเลยเรียกเป็นซากูไรเสียเลย
ทีนี้ในวงการกล้องและวงการตกแต่งภาพ ซึ่งก็ไปด้วยกันกับการถ่ายภาพ และอาจรวมถึงวงการกราฟฟิกดีไซน์ด้วย มันมีคำทับศัพท์ที่ออกเสียงไม่ค่อยตรงกับคำภาษาอังกฤษ คำที่ออกเสียงได้ตรง แม้จะไม่เป๊ะๆ ผมไม่ขอพูดถึงนะครับ แต่ที่จะพูดถึง ความจริงแล้วมีไม่กี่คำ
Macro
การถ่ายภาพ Macro คือ การถ่ายภาพในระยะใกล้ด้วยเลนส์ Macro ที่มีการขยายภาพวัตถุเล็กๆ ให้ดูเป็นขนาดใหญ่ได้ จะเห็นความชัดของตัว subject แบบที่ตาเปล่าของเราไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น การถ่ายภาพแมลงที่จะเห็นลักษณะทางกายภาพของแมลงได้ชัดแจนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราขยายในระดับ 1:1 หรือมากกว่านั้น
คำว่า Macro นี้ในวงการกล้องเขาออกเสียงและเขียนว่า มาโคร และก็ไม่ใช่แค่ในวงการกล้องหรือวงการถ่ายภาพแต่อย่างเดียวเท่านั้น ในวงการซอฟต์แวร์ ก็ใช้คำว่า มาโคร ซึ่งหมายถึง ชุดคำสั่งสำเร็จรูป เช่น ชุดคำสั่งมาโครสำหรับซอฟแวร์ Microsoft Office หรือชุดคำสั่งมาโครในโปรแกรมตกแต่งภาพบางโปรแกรม
คำว่า Macro นี้ ภาษาอังกฤษออกเสียงว่า แม็คโคร ไม่ได้ออกเสียงว่า มาโคร แต่อย่างใด ถ้าถามว่าแล้วในภาษาอื่นเขาออกเสียงกันว่า มาโคร มีบ้างไหม ก็ต้องตอบว่า มีครับ อย่างน้อยๆ ก็คือ ภาษาเยอรมัน ออกเสียงว่า มาโคร ดังนั้น สรุปว่า ในวงการช่างภาพไทยของเรา ช่างภาพไทยเราเก่งนะครับ รู้ภาษาเยอรมันกันทุกคนเลย
Vignette
ภาพถ่าย vignette เป็นภาพถ่ายที่มีลักษณะขอบภาพแสงมืดกว่าส่วนตรงกลางของภาพ โดยเฉพาะภาพแบบ portrait จะเป็นการช่วยเน้น subject ให้เด่นชัดขึ้น
ช่างภาพไทยเราจะออกเสียงคำ vignette ว่า วิกเนต แม้แต่ในคู่มือการใช้กล้องก็เขียนว่า วิกเนต การออกเสียงแบบนี้ผิด 100% เลยครับ เพราะคำนี้ออกเสียง วินเหย็ต หรือจะเขียนว่า วินเหย็ท ก็ได้
Stop
ปกติคำนี้ก็เป็นคำพื้นๆ ที่เราทุกคนออกเสียงได้ คือ สต๊อป ซึ่งแปลว่าหยุด แต่ในวงการถ่ายภาพ ก็มีคำว่า stop ซึ่งเขาออกเสียงว่า สต็อป ซึ่งหมายถึง F-stop คือ ปกติเลนส์ทุกตัวจะมีค่ารูรับแสง (aperture) ตั้งแต่ต่ำสุดถึงสูงสุดแสดงเป็น F-number เช่น จาก 1.4 เป็น 2 เป็น 2.8 เป็น 4 เป็น 5.6 เป็น 8 เป็น 11 เป็น 16 เป็น 22 และอาจถึง 32 สำหรับเลนส์บางตัว คือ เลนส์ที่มีค่า F น้อย เช่น F1.4 ก็จะมีรูรับแสงที่กว้างกว่าเลนส์ที่มีค่า F สูง เช่น F22 เป็นต้น ซึ่งระยะห่างระหว่างขนาดของรูปรับแสงจาก F1.4 เป็น F2 เรียกว่า 1 stop คือเลนส์จะรับแสงสว่างขึ้น 1 เท่า ถ้าขนาดรูรับแสงปรับจาก F1.4 เป็น F2.8 เรียกว่า 2 stop แสงจะสว่างขึ้น 2 เท่า หรือจะใช้ค่า stop กับ ISO ก็ได้เช่นกัน ค่า ISO จาก 100 เป็น 200 เท่ากับห่างกัน 1 stop ถ้าเพิ่มเป็น 400 ก็เท่ากับห่างกัน 2 stop
ดังนั้น ถ้าเราได้ยินใครพูดว่า สต็อป สต็อป กันในกลุ่มของเขา ก็พึงเดาได้ทันทีว่า คนเหล่านั้นคือ ช่างภาพ หรือคนในวงการถ่ายภาพ
Label
ในแวดวงของซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ การตกแต่งภาพ หรือกราฟฟิกดีไซน์ ก็จะมีคำว่า label เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะในซอฟต์แวร์การตกแต่งภาพ การให้ label ภาพ หมายถึงการแบ่งประเภทหรือกำหนดให้ rate ของภาพโดยลักษณะเป็น label สีต่างๆ กัน เช่นในโปรแกรม Adobe Lightroom นอกจากนี้ คำว่า label ยังหมายถึง ฉลากแสดงสินค้า หรือระบุรายละเอียดต่างๆ ของวัตถุที่เรานำ label ไปติด
ที่ผมประหลาดใจมากจริงๆ คือ การออกเสียงคำนี้ มีคนจำนวนมากจริงๆ ออกเสียง label ว่า ลาเบล มันไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว ลองพิมพ์คำว่า ลาเบล ใน lazada ดูสิครับ สินค้าฉลากลาเบล เครื่องพิมพ์ฉลากลาเบลมาตรึมเลย
ความจริงแล้ว label ออกเสียงว่า เลเบิ้ล เคยได้ยินชื่อเหล้าวิสกี้ที่ดังๆ ไหมครับ Johnnie Walker Red Label หรือ Black Label ถ้าใครออกเสียง label ว่า ลาเบล เดี๋ยวคอเหล้าเขาจะหัวเราะเอานะครับ
Die Cut
คำว่า die cut หมายถึงการตกแต่งภาพโดยโปรแกรมการตกแต่งภาพหรือโปรแกรมด้านกราฟฟิกที่ต้องการตัดแยก background ออกจาก subject เช่น ถ่ายภาพวัตถุหรือภาพคนก็ได้ แต่ background ข้างหลังมันรุงรัง หรือไม่ถูกใจเรา และเราต้องการเปลี่ยนมันให้เป็นพื้นขาว หรือไม่ก็ไปนำเอาภาพอื่นมาใช้เป็น background แทน ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่า die cut หรือ cut out (จริงๆ แล้ว ฝรั่งนิยมเรียกกว่า cut out มากกว่า)
ที่น่าแปลกคือ คนในวงการถ่ายภาพและกราฟฟิกดีไซน์เรียกคำทับศัพท์นี้ว่า ไดคัท จนทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่ามันมาจากคำว่า dicut ซึ่งคำนี้ไม่มีนะครับ ฝรั่งเจ้าของภาษายังไม่ได้บัญญัติคำนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด มีแต่ die cut เท่านั้น ก็ยังงงว่าไหงคนไทยออกเสียงคำว่า die เป็น ได การออกเสียงสระสั้นยาวบางคำมันจะทำให้ความหมายมันเปลี่ยนได้ เช่น เลนส์ (lens) กับ เลน (lane) ออกเสียงต่างกัน ยิ่งในภาษาไทยนี่ก็เห็นได้ชัด ไต กับ ตาย มันเหมือนกันไหมล่ะนี่