การใช้งานวีดีโอกล้องโอลิมปัส E-M1 Mark II (ตอนที่ 3)

ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายสำหรับบทความชุดนี้ โดยผมจะเขียน 2 เรื่อง คือ การใช้ Focus Peaking และ Magnify  และการใช้งาน Touch Screen กับการถ่ายวีดีโอ ซึ่งความจริงมันก็มีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญในการตั้งค่า คือ การใช้งานปุ่ม Button ต่างๆ ปรับเปลี่ยนการตั้งค่าต่างๆ ได้หลากหลายตามที่เราต้องการ แต่คิดแล้วขอไม่เขียนดีกว่าครับ เพราะการปรับเปลี่ยนการตั้งค่า Button ผ่านเมนู Button Function และรวมถึง Fn Lever Function ตลอดจน Shutter Function นั้น มันค่อนข้างจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคนใช้แต่ละคนมากกว่า โดยส่วนตัวผมปรับเปลี่ยนปุ่มต่างๆ เท่าที่จำเป็นและสะดวกต่อการใช้งานเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ใช้ค่า default ที่กล้องกำหนดมาให้มากกว่า
การตั้งค่าเมนูต่างๆ ในส่วนของการถ่ายภาพนิ่ง ผมเคยเขียนไว้บ้างแล้วในบทความ  ซึ่งสามารถนำมาใช้งานถ่ายวีดีโอได้เช่นเดียวกัน คือ
1. ตารางสรุปเมนูของกล้อง Olympus  Om-D E-M1 Mark II
2. การตั้งค่าใช้งานกล้อง Olympus OM-D E-M1 Mark II
Focus Peaking และ Magnify
Focus Peaking คือ ตัวช่วยตัวหนึ่งในการปรับโฟกัสของกล้อง ทำให้มีความแน่นอนชัดเจนย่ิงขึ้น เมื่อเราหมุนแหวนปรับโฟกัสที่เลนส์  Focus Peaking จะแสดงจุดประหรือ outline เป็นสีที่ตัว subject แสดงให้เราเห็นว่าเราปรับเข้าจุดที่ต้องการโฟกัสแล้ว ซึ่งสีที่แสดงนั้นสามารถเลือกได้ว่าต้องการสีอะไร  ส่วน Magnify คือการขยายภาพเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเข้าจุดโฟกัสหรือไม่ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวีดีโอ
การตั้งค่าเมนู ต้องตั้งค่าที่เมนูของกล้องให้เปิดใช้งาน Magnify ให้ไปที่ Custom Menu –> A3 AF/MF –> MF Assist –> Magnify –> On –> OK เพื่อให้กล้องใช้งาน  ส่วนเมนูเปิดใช้งาน Focus Peaking ก็อยู่ในเมนูเดียวกันอยู่ถัดลงไป เลือก Focus Peaking – -> On
ส่วนการตั้งค่าเพิ่มเติมของ Focus Peaking นั้น เริ่มจากการตั้งค่าสี ให้ไปที่ Custom Menu – -> D3 Disp/(Sound)/PC – -> Peaking Color – ->White/Black/Red/Yellow – -> OK การเลือกสีนั้น ก็แล้วแต่เราว่าเห็นสีไหนชัดเจนกว่ากัน ประกอบกับภาพ subject และ background ที่เราต้องการถ่าย ซึ่งสีที่เลือกก็ต้องตัดกับ subject และ background ไม่กลมกลืนกันไป ซึ่งจะทำให้เห็น outline ได้ชัดเจนขึ้น
นอกจากนั้น ในส่วนของ Focus Peaking ยังตั้งค่า Highlight Intensity คือความเข้มข้นของพื้นที่ที่ Highlight ได้ด้วย และตั้งค่า Image Brightness Adj. เพื่อช่วยให้การดูภาพผ่าน Live View สว่างขึ้นเมื่อใช้ Focus Peaking ซึ่งการตั้งค่าทั้ง 2 ค่านี้ ก็ตั้งผ่าน Custom Menu – -> D3 เช่นเดียวกัน
ส่วนการกำหนดให้ปุ่มใดของกล้องเมื่อกดปุ่มแล้วจะทำหน้าที่ focus peaking ก็ขอได้ไปตั้งค่ากำหนดปุ่มที่ Custom Menu/ B Button เอานะครับ
สำหรับผู้อ่านที่เป็นมือใหม่อยู่ และนึกภาพไม่ออกว่า เวลาใช้งาน Focus Peaking ภาพมันจะเป็นเช่นไร เพราะผมก็เคยเป็นตอนได้ยินคำว่า Focus Peaking ครั้งแรก ก็ดูภาพข้างล่างนี้ ซึ่งแสดงการใช้งาน Focus Peaking  โดยภาพแรกเป็นภาพธรรมดา ภาพที่ 2 กล้องแสดง focus peaking สีของ outline เป็นสีแดง
การใช้งาน Touch Screen ในการถ่ายวีดีโอ
ในส่วนของ Touch Screen ผมจะแบ่งหัวข้อออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการแตะจอเพื่อโฟกัส และเลื่อนจุดโฟกัส  สำหรับส่วนต่อมา คือ การใช้ Silent Shooting Mode
การแตะจอเพื่อโฟกัสและเลื่อนจุดโฟกัส
ผมขอเท้าความไปยังบทความของผมที่อ้างถึงข้างต้น (การตั้งค่าใช้งานกล้อง Olympus OM-D E-M1 Mark II) เฉพาะในส่วนการใช้งานจอ Touch Screen
ซึ่งในบทความนั้น ผมนำภาพในบทความนั้น ที่แสดงสถานะ 4 สถานะของ icon ของจอภาพตรงมุมซ้ายด้านล่าง มาใช้ในบทความนี้ด้วย ดังที่ปรากฏในภาพนี้
        
1. จอ Touch Screen ไม่ทำงาน
2. แตะเพื่อโฟกัส
3. แตะเพื่อปิดการทำหน้าที่ของ icon สถานะที่ 2
4. แตะเพื่อโฟกัสพร้อมกับการถ่ายภาพผ่าน Touch Screen
ในการถ่ายวีดีโอนั้น icon สถานะที่ 4 จะไม่แสดง เราจึงใช้ icon สถานะที่ 2 เพื่อกำหนดจุดที่เราต้องการโฟกัสในจอได้ทันที
ปกติเราเลื่อนจุดโฟกัสตอนถ่ายภาพนิ่งนอกเหนือจากใช้แตะหน้าจอนี้แล้ว เรายังใช้ปุ่ม Arrow Pad เลื่อนโฟกัสซ้ายขวาบนล่างได้อยู่แล้ว แต่ในระหว่างถ่ายวีดีโอ การใช้ Arrow Pad เลื่อนไปมา จะมีส่วนทำให้กล้องสั่นได้ ซึ่งการถ่ายวีดีโอมันไม่เหมือนการถ่ายภาพนิ่ง การถ่ายภาพนิ่งเราเลื่อนจุดโฟกัสก่อนจะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ มันก็ไม่เกี่ยวกับการสั่นของกล้องเพราะมันทำกันคนละขั้นตอน  แต่ถ้าใช้ Arrow Pad เลื่อนปรับโฟกัสขณะถ่ายวีดีโออยู่ด้วย ภาพก็เกิดการสั่นได้ 
วิธีการใช้งาน ก็คือต้องทำให้  icon อยู่ในสถานะที่ 2 คือพร้อมที่จะแตะจุดโฟกัสบนหน้าจอ เราก็แตะจุดโฟกัสที่ต้องการบนหน้าจอได้ทันทีในขณะถ่ายวีดีโอ กรอบสี่เหลี่ยมสีเขียวก็จะแสดงขึ้นบนหน้าจอ ให้เห็นว่านี่คือจุดโฟกัสของเราตอนถ่ายวีดีโอ  หากเราต้องการเปลี่ยนจุดโฟกัสก็เพียงแค่ลากกรอบสี่เหลี่ยมเขียวไปยังจุดที่เราจะโฟกัสใหม่ หรือเพียงแค่แตะจุดโฟกัสใหม่ก็ได้ ซึ่งกรอบสี่เหลี่ยมเขียวก็จะเคลื่อนที่ไปยังจุดโฟกัสใหม่ทันที 
โปรดดูภาพตัวอย่าง 2 ภาพข้างล่าง ในการถ่ายวีดีโอ ผมถ่าย close up ไปที่ชั้นวางหนังสือของผม โดยกำหนดให้กรอบสี่เหลี่ยมเขียวจะอยู่ตรงด้านล่างของจอภาพ แล้วก็เลื่อนจุดโฟกัสใหม่ไปที่ด้านบนของจอในภาพที่ 2
     
               
การใช้ Silent Shooting 
ปกติการปรับตั้งค่าต่างๆ เช่น ค่ารูรับแสง ค่าความเร็วชัตเตอร์ ค่า iso การปรับ volume ของไมโครโฟนที่ตัวกล้อง และ head phone ตลอดจนการปรับค่าแสง นั้น ส่วนใหญ่แล้ว ต้องทำคือต้องตั้งค่าให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มถ่ายวีดีโอ เพราะในระหว่างกำลังถ่ายนั้น ค่าส่วนใหญ่ที่ตั้งไว้มันจะปรับไม่ได้ด้วยวิธีการปกติโดยใข้ปุ่มต่างๆ ของกล้อง แต่มีสิ่งหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเราได้ คือ การทำให้เราสามารถปรับตั้งค่ากล้องในบางส่วนได้ นั่นก็คือ การใช้ Slilent Shooting ผ่านหน้าจอ Touch Screen ซึ่งนอกจากจะปรับเปลี่ยนค่าได้แล้วโดยไม่ต้องไปกดปุ่มนั้นปุ่มนี้ หรือหมุนปุ่มต่างๆ อาจก่อให้เกิดเสียงดังก๊อกๆแก๊กถูกบันทึกเข้าไปด้วยในระหว่างการถ่ายทำวีดีโอ ฉะนั้น การใช้ Silent Shooting จึงเข้ามามีบทบาทมีประโยชน์แบบมองข้ามไม่ได้
ก่อนอื่นต้องไปตั้งค่าให้กล้องเราใช้งาน Silent shooting ได้ก่อน โดยไปที่ Video Menu – -> Display Settings – -> Info Settings – -> Custom 1 – -> Check Silent Operation
การใช้งาน สังเกตดูที่จอของกล้องนะครับ จะมี tab เล็กๆ อยู่ด้านขวาสุดของจอ ซึ่งโอลิมปัสเรียกว่า silent shooting tab  ดังรูปข้างล่าง      
เราก็จิ้ม silent shooting tab ก็จะปรากฏ icon ขึ้นมา 7 ตัว คือ TW หูฟัง ไมโครโฟน SS(Shutter Speed) FNo(ค่ารูรับแสง) ISO และ +/-(ชดเชยแสง)  ดังรูปข้างล่าง
 
            
รูปที่ผมแสดงไว้ขาด icon SS กับ ISO เพราะผมใช้ Movie Mode เป็นโหมด A ทำให้ปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ไม่ได้   จึงไม่แสดง icon SS และ icon ISO เพราะกล้องกำหนดให้ใช้ Auto ISO  ซึ่งจำนวน icon ที่จะแสดงนั้น มันขึ้นอยู่กับการตั้งค่า Movie Mode ในเมนู Movie Mode Settings ด้วย
ขออธิบายเพิ่มเติมสำหรับ icon แต่ละตัว ซึ่งทำให้เราใช้งาน function ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องไปยุ่งกับปุ่มกดหรือปุ่มหมุนบนตัวกล้อง
Icon TW  คือ  Telephoto/Wide Angle สำหรับการใช้เลนส์ที่มีซูมไฟฟ้า เช่น เลนส์ M. Zuiko ED 14-42mm F3.5-5.6 EZ แบบ pancake และเลนส์ M. Zuiko ED 12-50mm F3.5-6.3 EZ  พอดีผมมีเลนส์ 12-50mm ซึ่งเป็นเลนส์คิทที่มากับ E-M5 รุ่นแรก สามารถใช้ function TW นี้ได้ ทำให้การซูมเข้าซูมออกโดยใช้ซูมไฟฟ้า จะทำให้ภาพ smooth ขึ้น ดีกว่าการซูมด้วยมือ
เมื่อเราแตะเลือก TW ดังภาพด้านล่างภาพแรก หน้าจอก็จะเปลี่ยนเป็นดังภาพด้านล่างภาพที่ 2  โดยเครื่องหมายหัวลูกศรชี้ขึ้น หมายถึง การซูมเข้า สำหรับหัวลูกศรชี้ลง หมายถึง การซูมออก ส่วนหัวลูกศรหัวเดียว คือ การซูมช้าๆ  หัวลูกศรคู่ คือ การซูมที่เร็วขึ้น
 
 –Icon Headphone หรือหูฟัง ใช้แตะเพื่อปรับ volume ของหูฟัง ซึ่งถ้าเราแตะเลือก ก็จะเข้าหน้าจอแบบภาพที่ 2 ด้านบน หัวลูกศรชี้ขึ้น ก็หมายถึงเพิ่ม volume ของหูฟัง หัวลูกศรชี้ขึ้นหัวเดียว ก็เพิ่ม volume ช้าๆ ส่วน 2 หัว ก็เพิ่ม volume ให้ดังเร็วขึ้น ส่วนหัวลูกศรชี้ลง ก็ปรับ volume ให้เบาลง
Icon Microphone เป็นการเพิ่ม volume ของไมโครโฟนของกล้อง หรือจะเป็นไมโครโฟนภายนอกที่เอามาต่อกับกล้องก็ได้ การทำงานก็เหมือนกันกับ icon ตัวอื่นๆ ปรับ volume ขึ้นลงได้ตามต้องการ
 –Icon SS (Shutter Speed)  การจะใช้ icon SS ได้ กล้องของเราต้องใช้ Movie Mode เป็นโหมด S หรือ โหมด M เท่านั้น ซึ่งการปรับความเร็วชัตเตอร์นั้น ปรับความเร็วขึ้นและความเร็วลงได้ ซึ่งเครื่องหมายหัวลูกศรก็เหมือนกับการปรับ icon ตัวอื่นๆ คือ หัวลูกศรชี้ขึ้น ใช้ปรับความเร็วให้สูงขึ้น หัวลูกศรชี้ลง ใช้ปรับความเร็วให้ลดลง
Icon FNo  ซึ่งก็คือ ค่า F หรือค่ารูรับแสง (Aperture) การจะใช้ icon FNo ได้ กล้องของเราต้องใช้ Movie Mode เป็นโหมด A หรือ โหมด M เท่านั้น โหมดอื่นหมดสิทธิ์ การปรับรูรับแสงให้กว้างหรือแคบ เครื่องหมายหัวลูกศรก็เหมือนกับการปรับ icon ตัวอื่นๆ คือ หัวลูกศรชี้ขึ้น ใช้ปรับค่า F ให้แคบลง (แสงจะเข้าน้อยลง) หัวลูกศรชี้ลง ใช้ปรับค่า F ให้กว้างขึ้น (แสงจะเข้ามากขึ้น)
 –Icon ISO ใช้ปรับค่า ISO ในระหว่างถ่ายวีดีโอ จะช่วยเพิ่มความสว่างมากขึ้นหรือน้อยลง ก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องคำนึงการเกิด noise ด้วย หากปรับค่า ISO สูงๆ การจะปรับค่า ISO ได้นั้น ต้องใช้ Mode M เท่านั้น (ขณะที่โหมด P/A/S กล้องจะตั้งค่า ISO ให้เป็น Auto ISO) นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนนิยมถ่ายวีดีโอด้วยโหมด M เพราะมันปรับค่าต่างๆ ได้หลากหลายเกือบครบทุกค่า เครื่องหมายหัวลูกศรก็เหมือนกับการปรับ icon ตัวอื่นๆ คือ หัวลูกศรชี้ขึ้น ใช้ปรับ ISO ให้สูงขึ้น ส่วนหัวลูกศรชี้ลง ก็ใช้ปรับ ISO ให้ต่ำลง
Icon +/- Exposure Compensation การปรับค่าชดเชยแสงสามารถทำได้ทุกโหมดการถ่ายวีดีโอ ยกเว้นการถ่ายด้วยโหมด M ใช่ครับ โหมด M ชดเชยแสงไม่ได้ สำหรับเครื่องหมายหัวลูกศรก็เหมือนกับการปรับ icon ตัวอื่นๆ คือ หัวลูกศรชี้ขึ้น ใช้ปรับค่าชดเชยแสงให้สว่างมากขึ้น หรือชดเชยแสงไปทาง +  ส่วนหัวลูกศรชี้ลง ก็ใช้ปรับค่าชดเชยแสงให้แสงมืดลง หรือชดเชยแสงไปทาง –
ผมจอจบบทความเกี่ยวกับการถ่ายวีดีโอด้วยกล้องโอลิมปัส E-M1 Mark II  ลงตรงนี้ ขอให้ทุกท่านถ่ายวีดีโอด้วยความสนุกและเพลิดเพลินครับ