การใช้งานวีดีโอกล้องโอลิมปัส E-M1 Mark II (ตอนที่ 1)

การใช้งานวีดีโอกล้องโอลิมปัส E-M1 Mark II เป็นเรื่องที่ผมให้ความสนใจมากเรื่องหนึ่ง ซึ่งปกติเราก็ใช้กล้องถ่ายภาพเน้นไปที่การถ่ายภาพร่วมๆ 80-90% แต่การใช้งานวีดีโอนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการถ่ายวีดีโอ 4K ซึ่งกล้องรุ่นนี้ก็สามารถใช้งานได้ค่อนข้างดี กล้องปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ถ่ายวีดีโอได้ทั้งนั้น เราจึงควรใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด

ในบทความนี้ เป็นการรวบรวมการใช้งานวีดีโอ ในรูปแบบต่างๆ ของกล้อง E-M1 Mark II ผมคงต้องเขียน 3-4 ตอน เพราะมีเนื้อหาสาระอยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งในบทความตอนแรกนี้เป็นการพูดถึงสิ่งที่ควรรู้และหลักการถ่ายวีดีโอทั่วๆ ไปก่อน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นความรู้พื้นฐานเท่าที่ตัวเองพอมีความรู้ ประกอบกับการรวบรวมสรุปการอ่านจากเว็บต่างๆ ด้วย

สิ่งที่ควรรู้ และหลักการทั่วไปในถ่ายวีดีโอ

– Video Resolution กล้องโอลิมปัส E-M1 Mark II มี resolution ให้เราเลือกมากมาย ตั้งแต่ระดับเล็กๆ จนถึงใหญ่ขนาด 4 K  แน่นอนไฟล์ที่มี resolution สูง คุณภาพก็สูงตามไปด้วย อย่างการถ่ายวีดีโอเพื่อวัตถุประสงค์จะใช้เป็น stock footage คุณภาพก็อย่างน้อย HD คือ ที่ resolution 1920×1080 ถ้าคอมพิวเตอร์ของเรารองรับ resolution ที่สูงกว่านี้ ก็ควรถ่ายที่ resolution 4 K ซึ่งกล้อง E-M1 Mark II  มีให้เลือก 2 ขนาด คือ 4096 x 2160 (C4K) และ 3840 x 2160 (4K)  ส่วนถ้าเราวีดีโอเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อดูกันเองในครอบครัว หรือเพื่อเอาไปลงใน Social Media เราก็พิจารณาลดขนาดของ resoulution ตามความเหมาะสมของงานที่เราจะใช้ การถ่ายวีดีโอด้วย resolution สูงๆ แน่นอนว่าขนาดของไฟล์ก็จะใหญ่ตามไปด้วย

– Video Aspect Ratio  คือ อัตราสัดส่วนระหว่างขนาดความกว้างและสูงของวีดีโอ อันนี้มันดูคล้ายๆ กับ Video Resolution  แต่มันคนละเรื่องกัน เพราะไม่ใช่ขนาดความกว้างและสูงของวีดีโอจริงๆ แต่มันเป็นอัตราส่วน หรือ สัดส่วน เช่น Aspect Ratio 16:9  คือ สัดส่วนขนาดความกว้างเท่ากับ 16 และความสูงเท่ากับ 9 อัตราส่วนขนาดนี้ก็อย่างเช่น ในมือถือ ปกติก็ใช้สัดส่วน 16:9 และอีกขนาดหนึ่งคือ 4:3  แต่การถ่ายวีดีโอควรตั้งค่าอัตราส่วนของภาพไว้ที่ 16:9  ส่วนการถ่ายวีดีโอด้วยมือถือนั้น ปกติมันก็เป็นค่า default อยู่แล้ว ส่วนการ play back ของไฟล์วีดีโอไม่ว่าบนมือถือ บนคอมพิวเตอร์ หรือจอทีวี resolution จะแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกัน คือ Aspect Ratio

– Frame rate per second (fps) ไฟล์วีดีโอประกอบไปด้วยภาพต่างๆ ที่แสดงว่าใน 1 วินาที มันจะแสดงได้กี่ภาพ ปกติก็ตั้งแต่ 24 ภาพต่อวินาที หรือ FPS ขึ้นไป ถ้าเราลองเปรียบเทียบดูว่า fps ของวีดีโอ ไม่ว่า 24 fpx หรือ 30 fps หรือ 60 fps หรือสูงกว่านี้ ดูด้วยตาเปล่าแทบจะแยกความแตกต่างไม่ได้หรอกครับ แต่การใช้ fps ที่สูง มันจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะถ้าเรานำไฟล์วีดีโอไปตัดต่อในโปรแกรม และ render ให้เป็น slow motion มันก็จะแสดงภาพที่ดู smooth กว่าเยอะ และไม่กระตุก นี่คือข้อดีของการตั้งค่า fps ไว้สูงๆ แต่ก็ต้องแลกกับขนาดของไฟล์ที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะจำนวนภาพในเฟรมภายใน 1 วินาทีนั้น มันมีมากกว่า


– Bit Rate ของไฟล์วีดีโอ ใช้ความเร็วเป็น Mbps คือ Megabit per second หรือกี่เม็กกาบิตต่อวินาที เอาเป็นว่าถ้าถ่ายวิดีโอที่ Megabit ยิ่งสูงยิ่งได้ไฟล์คุณภาพที่ดี แต่ก็ต้องแลกกับเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นของหน่วยความจำด้วย กล้อง E-M1 Mark II  มีค่า Bit Rate ตั้งแต่ 10-237 Mps ซึ่งรายละเอียดเราจะพูดกันในตอนที่ 2

– Compression Method วิธีการบีบอัดไฟล์วีดีโอโดยกล้อง ปกติการบีบไฟล์อัดดิจิทัลมี 2 วิธี คือ  IPB หรือ Bidirectional compression  และ All-Intra compression ซึ่งใช้วิธีเก็บภาพจริงทุกภาพรวมเป็นไฟล์วีดีโอ เช่น ถ่ายวีดีโอที่ 30 เฟรมต่อวินาที กล้องจะบันทึกภาพจริงไว้ 30 ภาพ คุณภาพย่อมดีกว่าการบีบอัดแบบ IPB ซึ่งเก็บภาพจริงเพียง 2 ภาพ โดยบันทึกภาพครั้งแรก 1 ภาพ อีก 14 ภาพ มาจากการคำนวนความแตกต่างของ pixel ที่เปลี่ยนไป ภาพจะถูกบันทึกครั้งที่ 2 คือ ภาพที่ 16 ที่เหลือคืออีก 14 ภาพ (ภาพที่ 17-30)  เป็นการใช้วิธีคำนวนอีกครั้ง รวมแล้วก็เป็น 30 ภาพ สรุปว่า All – I เป็นวิธีการบีบอัดที่ดีกว่าเพราะมีมวลเนื้อไฟล์ที่มากกว่า นำไปใช้ประโยชน์ในการตัดต่อได้มากกว่า ในขณะที่ IPB ก็มีดีตรงการบันทึกไฟล์ใช้พื้นที่น้อยกว่าในหน่วยความจำที่เท่ากัน การบีบอัดแบบ IPB จะทำให้การบันทึกวีดีโอทำได้นานกว่าหน่วยความจำจะเต็ม กล้อง E-M1 Mark II มีความสามารถที่จะใช้วิธีบีบอัดแบบ All-I ได้


– Codec มาจากคำว่า compression – decompression คือ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบีบอัดและการคลายการบีบอัดข้อมูลวีดีโอและข้อมูลเสียง เหตุผลก็เพื่อลดขนาดของไฟล์ลง ถ้าไม่มี Codec ไฟล์วีดีโอมันก็จะใหญ่โตมโหฬาร  Codec มีทั้งแบบ h.264/h.265/MPEG-2/ProRes 422 และ 444/DV เป็นต้น ซึ่งในโปรแกรมตัดต่อไฟล์ตอนที่เราจะ render ไฟล์ เราก็ต้องเลือก Codec ว่าจะใช้แบบไหน 


– Container ถ้าเทียบกับไฟล์ดิจิทัลอื่น มันก็ทำนองเดียวกับ file format ซึ่ง   Container นี้ จะอยู่ในรูปของ MOV/AVI/MP4/MKV/FLY เป็นต้น ที่เรียกว่า container เพราะมันเปรียบเสมือนกล่องที่บรรจุ content หรือข้อมูลต่างภายในนั้น ซึ่งได้แก่ ข้อมูลวีดีโอ ข้อมูลเสียง ข้อมูลคำสั่ง codec และ time code  สำหรับกล้อง E-M1 Mark II มี container หลัก คือ MOV และมี AVI ด้วย ขึ้นอยู่กับ Video format  ที่เราจะเลือก

– Shutter speed หรือความเร็วชัตเตอร์ ต้องดูให้ดีครับ โดยตั้งความเร็วของชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับความเร็วของเฟรมที่ถ่ายต่อวินาที (frame per second – fps) เช่น ถ่ายวีดีโอที่ 25 fps  ปกติความเร็วชัตเตอร์ก็ต้องไม่ต่ำกว่า 1/50 วินาที ถ่ายวีดีโอที่ 30 fps ความเร็วชัตเตอร์ก็ไม่ตำ่กว่า 1/60 วินาที ซึ่งก็คือ 2 เท่าของ fps  อันนี้ ไม่ได้หมายความว่าความเร็วมากน้อยกว่านี้ไม่ได้ แต่มันจะทำให้ภาพของวีดีโอที่ได้ มันไม่เป็นธรรมชาติ

– ควบคุม exposure โดยอย่าลืมเช็ค Histogram เพื่อควบคุมแสงไม่ให้ over หรือ under ไม่งั้นถ่ายไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาเปิดดูกลายไปแสง over สว่างโร่ หรือ under มืดมิดไป สิ่งที่ต้องระลึกคือ ความเร็วชัตเตอร์ที่ยิ่งสูง มีผลต่อการรับแสงของกล้องด้วย และยิ่งถ้าใช้ fps ที่สูงประกอบด้วย อาจทำให้ภาพมืดลงไปด้วย 

– Composition มีกฎต่างๆ เช่นเดียวกันกับการถ่ายภาพ เช่น  Rule of Thirds กฎ 3 ส่วน จุดตัด 9 ช่อง มุมสูง มุมต่ำ อะไรทำนองนี้ ก็นำมาใช้กับการถ่ายวีดีโอ แต่การถ่ายวีดีโอนั้น ต้องคำนึงถึง movement ของภาพด้วย ซึ่งต่างจากภาพนิ่ง ชื่อมันก็สื่ออยู่แล้วว่าเป็น motion picture

– โหมดการถ่ายวีดีโอ ก็เช่นเดียวกับกรณีถ่ายภาพ การถ่ายวีดีโอนั้น เราสามารถใช้โหมดถ่ายภาพโหมดหนึ่งโหมดใดก็ได้ ไม่ว่า Auto, P, A, S, M การใช้แบบนี้ มีประโยชน์อยู่ที่ใช้ถ่ายสลับไปมาระหว่างภาพนิ่งกับวีดีโอ การตั้งค่าถ่ายภาพนิ่งจะรวมไปถึงการตั้งค่าถ่ายวีดีโอด้วย หมายความว่า ตั้งค่าถ่ายภาพอย่างไรในโหมดนั้น พอไปถ่ายวีดีโอก็จะได้ค่าแบบนั้น แต่ที่เหมาะสมกว่า คือ การเลือก Movie Mode ในกรณีใช้ E-M1 Mark II ซึ่งเป็นโหมดการถ่ายวีดีโอโดยตรง และสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ได้หลากหลาย ซึ่งใน Movie Mode นี้ เรายังตั้งค่าได้อีกว่า จะเลือกโหมดใดระหว่าง P, A, S, M แต่ถ้าจะเอาคุณภาพปกติเราจะใช้โหมด M กัน เพราะเราสามารถควบคุมรูรับแสง หรือ  aperture ของเลนส์ได้ พูดง่ายๆ คือ ล็อคค่าแสงได้ แม้ว่าเราใช้โหมด A ซึ่งล็อกค่า Aperture ได้ แต่ความเร็วชัตเตอร์มันกลับไม่นิ่ง  นอกจากนี้ เรายังสามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์ ค่า ISO ค่า White Balance ได้ด้วย


ทั้งนี้ทั้งนั้น การถ่ายด้วยโหมด M จำเป็นต้องมีการฝึกฝนให้คุ้นเคยก่อน เพราะต้องปรับโฟกัสโดยใช้วิธีหมุนแหวนปรับโฟกัสที่เลนส์ และต้องฝึกการควบคุมระยะโฟกัสไม่ให้หลุด หากเราใช้ auto focus ปัญหาที่ตามมา คือ กล้องจะหาโฟกัส ทำให้ภาพเบลอไปชั่วขณะ การใช้ manual focus สำหรับกล้องอย่าง E-M1 Mark II  มันก็อำนวยความสะดวกให้เรา โดยสามารถจิ้มเลือกจุดโฟกัสบนหน้าจอ LCD ได้ และยังใช้ฟังก์ชั่น ขยายภาพ และ focus peaking ได้ด้วย  

เรื่อง Manual focus นี้ เขาว่ากันว่า ช่างภาพระดับโปรนิยมใช้กันแบบนี้ ก็ท่าจะจริงนะ ผมเห็นกล้องถ่ายวีดีโอ Blackmagic Pocket Camera 4K ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนกันยายน ปีนี้ ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้เลนส์ M4/3 mount เป็นกล้องที่ใช้  manual focus เป็นหลัก วิธีการก็มีทั้งจิ้มเลือกจุดโฟกัส และหมุนปรับแหวนโฟกัสที่เลนส์ หากจะใช้ auto focus ก็ใช้ได้เฉพาะเลนส์บางตัวเท่านั้น และยังสามารถถ่ายเป็น RAW file ได้ เป็นกล้องถ่ายวีดีโอที่น่าสนใจมากครับ รูปร่างหน้าตามันเหมือนกับกล้อง DSLR ทั่วไป  แต่ค่อนข้างใหญ่และน้ำหนักบอดี้ 722 กรัม  ในขณะที่ E-M1 Mark II หนักแค่ 498 กรัม ที่สำคัญมันไม่มีกันสั่น

– Focus Mode  หรือ AF Mode โดยทั่วๆ ไป จะใช้ S-AF หรือ  C-AF อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์และการถ่ายวีดีโอว่าเราจะใช้แบบไหน ถ้าถ่าย landscape เลือกใช้ S-AF ก็น่าเหมาะสม แต่ถ่ายการเคลื่อนไหว ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของคนสัตว์และสิ่งของ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของกล้องของเราเองที่กำลังถ่ายอยู่ ใช้ C-AF  ก็น่าจะเหมาะกว่า และยังสามารถเลือก C-AF TR คือ tracking ก็ได้อีกด้วย สำหรับกล้อง E-M1 Mark II  ยังมีโหมด S-AF/MF ซึ่งเป็นโหมดที่น่าสนใจกว่า S-AF เพราะหลังจากเราใช้  S-AF โฟกัสจุดที่ต้องการแล้ว ยังปรับโฟกัสโดยหมุนแหวนปรับโฟกัสที่เลนส์เพิ่มเติมได้อีก และหากยิ่งใช้ focus peaking หรือ  magnifiy เพิ่มเติม ก็จะช่วยปรับความคมชัดให้แน่นอนขึ้นไปอีก และโหมดสุดท้าย คือ  M ใช้แหวนปรับโฟกัสที่เลนส์ล้วนๆ และแน่นอน focus peaking/magnify เข้ามาเป็นตัวช่วยชั้นดี


– Picture Mode ควรใช้ Mode ใด กล้องโอลิมปัสมี Picture Mode ให้เลือกหลายตัว เช่น Natural/Muted/Portrait/Vivid/Monotone และพวก Art ต่างๆ และยังปรับแต่งเพิ่มเติมได้อีก จะใช้โหมดใด ผมว่าแล้วแต่ความต้องการของคนถ่าย ผมเองนั้นใช้แค่ Muted  คือ สีดูจืดสุด แบบ low contrast และ  low saturation ไม่มีการตกแต่งอะไร เนื่องจากต้องการนำไฟล์ไปปรับแต่งสีแสงเอาเองในซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ เพราะหากไปใช้พวก Vivid หรือ แม้แต่ Natural การไปปรับแต่งภายหลังมันจะไม่ยืดหยุ่นเท่ากับการที่เราถ่ายแบบ Muted  มาตั้งแต่ต้น

– ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายวีดีโอ นี่ก็อีกเช่นกัน คล้ายๆ กับการถ่ายภาพ มีช่วง golden hour เหมือนกัน คือ ช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น และช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์กำลังตกดิน เพราะเป็นช่วงที่แสงกำลังอ่อน โดยเฉพาะการถ่าย landscape จะสวยมากก็ช่วงเวลานี้  ซึ่งการถ่าย outdoor ด้วยแสงธรรมชาติ หรือถ่าย indoor ถ่ายใน studio การจัดแสงก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากการถ่ายภาพ

 – มีข้อแนะนำจากหนังสือที่เขียนโดย Richard Harrington หากต้องการจะเก็บข้อมูล exif ของไฟล์วีดีโอไว้ด้วย ปกติไฟล์วีดีโอมันจะเก็บข้อมูล exif ไว้ไม่ครบถ้วน อาจมีเพียง ขนาดไฟล์ จำนวนเฟรมต่อวินาที ความยาวของวีดีโอข้อมูลความถี่ของเสียงที่บันทึก แต่เราต้องการข้อมูลมากกว่านั้น โดยเฉพาะข้อมูลจากกล้องที่เราใช้ถ่าย อาทิ aperture, shutter speed, iso, lens เป็นต้น ดังนั้น เมื่อตั้งค่ากล้องเตรียมตัวถ่ายวีดีโอ ก็ควรถ่ายภาพเก็บไว้ก่อน 1-2 รูป เพราะข้อมูล  exif จะถูกบันทึกไว้ในไฟล์ภาพ ทั้งนี้ การทำเช่นนี้ นอกจากทำให้เรามีข้อมูลครบแล้ว เราสามารถใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการถ่ายวีดีโอ เอาไว้เปรียบเทียบ หรือเอาไว้อ้างอิงก็ได้ ประเด็นนี้ พูดตรงๆ มันไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง บางทีก็ลืม และถ้าถ่ายกระทันหันก็ทำไม่ได้ แต่ถ้ามีเวลาและไม่ลืม ผมก็จะทำทุกครั้ง

สรุปว่า ความรู้พื้นฐานทุกอย่างของการถ่ายรูปสามารถนำมาปรับใช้กับการถ่ายวีดีโอได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องเลนส์ การตั้งค่าต่างๆ ของกล้อง ความเร็วชัตเตอร์ โหมดโฟกัสต่างๆ โดยเฉพาะแมนนวลโฟกัส White Balance เรื่องของการปรับรูรับแสง (Aperture) หรือค่า F-stop  เรื่อง DOF เรื่อง ISO  เรื่อง composition เรื่อง Aspect Ratio และเรื่อง Resolution เป็นต้น บวกกับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวีดีโอ ดังที่อ้างถึงข้างต้น คือ เรื่องของ fps เรื่อง bitrate เรื่อง compression method เรื่อง codec และ container 

สำหรับตอนต่อไป ผมจะเข้าไปสู่รายละเอียดของการใช้กล้องโอลิมปัส OM-D E-M1 Mark II ในการถ่ายวีดีโอ