การบริหารจัดการไฟล์ภาพ (เพื่อส่งภาพขายที่เว็บ Stock) ตอนที่ 2

ตอนนี้เรามาดูเรื่อง Lightroom  กัน หลังจากที่มีการคัดเลือกไฟล์ภาพที่จะใช้กับไม่ใช้กันแล้วใน  Photo Mechanic  เราก็ import รูปเหล่านั้นเข้า Lightroom  โดยการ add ภาพทั้งหมดเข้าระบบ catalog ของโปรแกรม ก็เท่ากับว่าภาพของเราเข้าอยู่ในระบบ database ของ Lightroom แล้ว  keyword  3-4 คำ ที่ได้ฝังไว้ในไฟล์ RAW โดย Photo Mechanic ก็ตามเข้ามาด้วย ดังภาพ
 
ผมขอเท้าความไปยังบทความตอนที่1 สักนิดเกี่ยวกับโครงสร้างโฟลเดอร์ ผมจัดโครงสร้างเป็น ปี/เดือน/วัน ซึ่งในส่วนของวัน ผมจะใส่วันที่ไว้พร้อมกับเรื่อง/สถานที่/ประเภทของไฟล์ภาพ เช่น จากภาพข้างบน ผมไปศรีลังกาในปี 2017 เดือน 11 วันที่ 7-11 ผมก็ใช้ว่า 07 Sri Lanka 08 Sri Lanka อย่างนี้เป็นต้น และไฟล์ที่ผมปรับแต่งใน Lightroom (ซึ่งปกติก็เป็น virtual copy) มันก็อยู่ในโฟลเดอร์เดิมของมัน หรือถ้าเอาไฟล์นั้นไปปรับแต่งเพิ่มเติมในโปรแกรมอื่น เช่น  Photoshop (ปกติเวลาเรา subscribe photography plan กับ Adobe เราก็ใช้ได้ทั้ง Lightroom และ Photoshop อยู่แล้ว)  โดยผม save ไว้เป็นไฟล์ TIFF และไฟล์ TIFF ตัวนี้ก็อยู่ในโฟลเดอร์ของมันเช่นกัน ไม่ได้ save ไปเก็บไว้ที่อื่น ผมจัดระบบของผมอย่างนี้
ทีนี้ สำหรับไฟล์ที่จะส่งไปขายยังเว็บ Microstock ผมจะจัดระบบแยกไว้ต่างหาก โดยสร้างโฟลเดอร์ใหม่ขึ้นมาใช้ชื่อว่า Microstock  แล้วแบ่งโฟลเดอร์ย่อยเป็น category  คล้ายๆ กับ category ของเว็บ Microstock คือ Abstract/ Animals/ Arts/ Background&Texture/ Buildings&Landmarks/ Business/ Celebrations/ Editorials/ Foods& Fruits/ Interiors/ Landscape/ Nature/ Objects/ Parks& Outdoor/ People/ Religions/Signs&Symbols/ Sports& Recreations/ Technology/ Transportation
ไฟล์ TIFF หรือ ไฟล์จาก virtual copy ใน Lightroom ที่ผมต้องการจะขายในเว็บ Microstock ผมจะ export เข้าไปไว้ในโฟลเดอร์ย่อยของโฟลเดอร์ Microstock  ดังภาพข้างล่างนี้
การนำไฟล์เข้าโฟลเดอร์ Microstock นั้น ผมจะใส่ keywords แบบละเอียดในขั้นตอนนี้ (หลังจากที่เคยใส่ไว้ในเบื้องต้นไม่กี่คำผ่านโปรแกรม Photo Mechanic ก่อนจะ import เข้า Lightroom) หากเป็นไฟล์ภาพประเภท Editorial ก็จะใส่รายละเอียดไฟล์ไว้ใน Caption และ Headline ให้เรียบร้อย โดยทำใน Photo Mechanic  ผมสามารถเรียงลำดับความสำคัญของ keyword และถูกฝังไว้ในไฟล์ JPG เวลาส่งไปเว็บที่เขาให้ความสำคัญกับลำดับความสำคัญของ keyword มันก็จะแสดง keyword ตามลำดับที่เราฝังไว้ในไฟล์ ซึ่งโปรแกรม Lightroom ทำไม่ได้อย่างนี้ เพราะการใส่ keyword ใน Lightroom โปรแกรมมันจะเรียง keyword ตามลำดับตัวอักษรเสมอ (แม้จะมีการฝัง keyword ตามลำดับความสำคัญไว้ในไฟล์แล้วก็ตาม Lightroom ก็จะแสดง keyword ตามลำดับตัวอักษร ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะตอนส่งไฟล์ไปจริงๆ มันก็จะแสดง keyword ตามลำดับความสำคัญที่ฝังอยู่ในไฟล์ภาพอยู่ดี)
ขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดกรณีเราใส่ keyword ผ่านทาง Photo Mechanic แล้ว ภาพนั้นๆ ใน Lightroom ก็จะมีสัญลักษณ์เครื่องหมายอัศเจรีย์หรือเครื่องหมายตกใจเตือนขึ้นมาที่มุมภาพด้านขวาบน ซึ่งหมายความว่า Metadata has conflict ซึ่งเราก็คลิกเลือก Import Setting from Disk แล้ว keyword  ชุดใหม่ก็จะถูกบรรจุไว้แทนชุดเดิม แต่บางครั้ง Lightroom ไม่แสดงสัญลักษณ์อะไร เราก็ต้องไปบังคับให้มันรับรู้โดยไปคลิกที่เมนู  Metadata  แล้วเลือก Read Metadata from file
การจะจัดไฟล์ส่งไปยังเว็บ Stock ผมจะสร้าง Collection Set ขึ้นมาใน Lightroom อะไร คือ  Collection มันก็คือ virtual folder คือ ไม่ใช่โฟลเดอร์จริงๆ ไฟล์ภาพที่อยู่ใน collection ก็ไม่ได้ย้ายเข้ามาจริงๆ ไฟล์ภาพนั้นยังคงอยู่ที่โฟลเดอร์ Microstock ของมัน
ผมสร้างขึ้นมา 3 set คือ  1.Microstock Submitted  2.Microstock Approved  และ 3.Microstock Rejected  ในแต่ละ Collection Set จะมี collection ย่อย คือ เว็บ Microstock ที่เราจะส่งภาพไปขาย เช่น  Shutterstock/ iStockphoto/ Dreamstime/ 123rf/ Bigstockphoto/ Adobe Stock เป็นต้น  ดังภาพข้างล่าง
ปกติผมไม่ได้ใส่เลข 01 02 03 นำหน้า Collection Set  แต่เพื่อความชัดเจนให้เห็นเป็นลำดับขั้นตอนสำหรับ Collection Set จึงใส่หมายเลขกำกับไว้  ขออธิบายเพิ่มเติมครับ สำหรับชุดแรก คือ Microstock Submitted คือ ไฟล์ที่ส่งไปเพื่อให้เว็บไมโครสต็อคตรวจรับ ซึ่งเราก็ลากไฟล์มาจากโฟลเดอร์ Microstock มาใส่ไว้ใน Collection ชุดนี้ โดยแยกตามแต่ละเว็บที่เราจัดส่งภาพไป ปกติเมื่อลากไฟล์มาพร้อมที่จะส่งนั้น ผมจะเปลี่ยนชื่อ Collection ย่อยไว้ชั่วคราว เช่น Shutterstock Prep ซึ่งหมายความว่า รอส่งเว็บ (แต่ยังไม่ได้ส่งเพราะอาจติดธุระอะไรอื่นอยู่) แต่หลังจากจัดส่งเรียบร้อยแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อกลับไปตามเดิม คือ Shutterstock  ซึ่งที่ทำเช่นนี้ก็เพราะไม่ต้องการสร้าง Collection Set สำหรับการเตรียมไฟล์เพื่อส่งไว้แยกต่างหาก มันจะดูเยอะเกินไป ส่วน Collection Set  อีก 2 ชุด ก็ตามที่ระบุไว้ครับ ไฟล์ไหนเว็บเขา approve  เราก็ลากไฟล์จาก Submitted มายัง Microstock Approved  ไฟล์ไหนเขาปฏิเสธ เราก็ลากไฟล์นั้นจาก Submitted มายัง Microstock Rejected
 
ที่สำคัญสำหรับ Microstock Rejected นั้น เราจะต้องระบุเหตุผลเอาไว้ด้วยว่า ภาพนั้นๆ ถูกปฏิเสธเพราะอะไร ตัวโปรแกรม Lightroom เอง มันก็ไม่มีช่องอะไรตรงไหนที่เราจะเขียนลงไปได้ ตรง Comments ด้านขวาล่างสุดของ Lightroom เราก็เขียนไม่ได้ วิธีแก้ ผมจะใช้ plug-in ชื่อ Big note เข้ามาช่วย โดยสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่  ซึ่งผมจะบันทึกเหตุผลการปฏิเสธภาพไว้ที่ตรงนี้หละครับ โปรดดูภาพด้านล่าง
ถ้าเรามองดูในภาพรวม เราก็จะเห็นได้ชัดว่า แต่ละเว็บที่เราส่งภาพไปนั้น จะมีการแบ่งเป็นแต่ละส่วนอย่างชัดเจน โดยแต่ละเว็บเราจะทราบทันทีว่า ภาพใดบ้างส่งไปขายที่เว็บใดบ้าง และภาพใดบ้างที่ถูกปฏิเสธโดยเว็บใดบ้าง พร้อมเหตุผลในการปฏิเสธ ซึ่งบางเหตุผลเราก็สามารถนำมาแก้ไขเพื่อส่งไปใหม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ให้บทเรียนกับเราเช่นกัน ทั้งนี้ ทั้งนั้น ภาพ RAW ต้นฉบับ หรือภาพ TIFF  ก็ยังอยู่ในโฟลเดอร์เดือน/ปี/วันเช่นเดิม  ภาพ JPG ก็อยู่ในโฟลเดอร์ Microstock เช่นเดิม ส่วนภาพใน Collection Set/Collection นั้น มันเป็นเพียงแค่การอ้างอิง หรือ referencing ไปยังโฟลเดอร์ที่ไฟล์ภาพเก็บอยู่จริงเท่านั้น
การสร้าง Collection นี้ สามารถใช้กับการบริหารจัดการไฟล์ต่างๆ ได้ทุกรูปแบบ เช่น สร้าง Collection สำหรับไฟล์ภาพครอบครัว สำหรับไฟล์ภาพการท่องเที่ยวยังสถานที่แต่ละแห่ง สำหรับไฟล์ภาพสัตว์เลี้ยงของคุณ  หรือสำหรับลูกค้าแต่ละคน เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ ผมยังใช้ Collection เป็นที่พักชั่วคราวสำหรับไฟล์ที่ผมจะ process   สมมุติว่า ผมต้องการ process ไฟล์จากทริปที่ไปมาเลเซีย แทนที่ผมจะไปคลิกดูในโฟลเดอร์หลัก คือ ปี/เดือน/วันที่เดินทางไปมาเลเซีย ผมจะเลือกไฟล์เฉพาะที่ผมต้องการ ลากมารวมไว้ที่ Collection ชื่อ Malaysia Trip  ซึ่งจะสะดวกกว่าแทนที่จะเข้าๆ ออกๆ ยังโฟลเดอร์หลัก
ในตอนที่ 1 ของบทความนี้ ผมพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับไฟล์ภาพว่า  Lightroom สามารถจำแนกแยกแยะได้ละเอียด ซึ่งความละเอียดนี้สามารถจำแนกแยกแยะได้กระทั่งกล้องยี่ห้อใด serial no. อะไร เลนส์อะไร เปิดรูรับแสงเท่าไหร่ ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ ซึ่งในส่วนนี้สามารถคลิกเลือกดูได้ที่ด้านบนของโปรแกรม ที่  Library Filter แล้วเลือก Metadata  ซึ่งจะมีตัวเลือกให้เลือกหลากหลายทีเดียวเลย
ที่สำคัญประการหนึ่งที่พึงระลึกถึง  Lightroom  ไม่ใช่โปรแกรมประเภท Browser แต่เป็นโปรแกรมประเภท catalog คือต้อง import ไฟล์ภาพเข้าสู่ระบบ database หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มันคือโปรแกรมแบบ Library ดังนั้น ต้องจำไว้เสมอว่า เมื่อ import  ไฟล์เข้าสู่ระบบของ Lightroom แล้ว  การกระทำใดที่เกี่ยวกับไฟล์ภาพ ไมว่าการคัดลอก การย้าย การลบ หรือการเปลี่ยนชื่อไฟล์ จะต้องทำผ่านหรือทำในโปรแกรม Lightroom เท่านั้น ไม่งั้น Lightroom จะเกิดอาการเอ๋อ หาไฟล์ไม่เจอเป็นแน่
ถ้าจะถามว่า เราสามารถใช้ Adobe Bridge ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มาพร้อมกับ Photoshop มาบริหารจัดการไฟล์ในลักษณะแบบที่ทำใน Lightroom ได้หรือไม่  ก็ต้องตอบว่า ทำได้ใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง Adobe Bridge นั้นเป็นลักษณะ Browser ไม่ต้องมีการ import ไฟล์เข้าไปใน database  การแสดงภาพจะรวดเร็วกว่าการแสดงภาพใน Lightroom และยังสามารถแสดง digital files ได้หลากหลายกว่า และยังสามารถสร้าง Collection ได้ด้วย เพียงแต่ไม่สามารถสร้าง Collection Set ได้ หากต้องการใช้ Adobe Bridge จริงๆ ก็คงต้องให้หมายเลข Collection  จะทำให้หัวข้อของ Collection เรียงกันตามแบบที่เราต้องการ แต่ List มันก็คงเยอะถ้าเราส่งภาพไปยังเว็บต่างๆ เยอะขึ้น  ผมลองสร้าง Collection จำลองขึ้นมา ดังภาพด้านล่าง
ปัญหาของ Bridge  ก็คือ มันไม่มีช่องข้อความที่จะใส่เหตุผลกรณีที่ภาพถูกปฏิเสธ แบบ Big note  ที่ใช้ใน Lightroom  แต่ถ้าจะใส่จริงๆ ก็พอกล้อมแกล้มทำได้โดยไปใส่ในช่องบางช่องของ Metadata เช่น Instructions หรือ Job Identifier แม้จะไม่ตรงกับความหมาย และข้อความที่ใส่ลงไปนั้น ก็จะไปปรากฎในโปรแกรมอื่นๆ ด้วย ไม่ว่า Lightroom หรือ Photo Raw  ก็แสดงว่าข้อความดังกล่าวถูกฝังลงไปในไฟล์ภาพ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเป็นข้อความส่วนตัวที่เราไม่ต้องการให้คนอื่นเห็น ในขณะที่ข้อความใน Big note ถูกเก็บอยู่ในระบบ catalog ของ Lightroom ไม่ได้ถูกฝังไว้ในไฟล์ภาพและไม่ได้ถูกเขียนไว้ในไฟล์ xmp
สุดท้าย ก็อย่าลืมการสำรองไฟล์ข้อมูลหรือ backup ไฟล์ข้อมูลของคุณไว้นะครับ ปกติผมสำรองไฟล์ข้อมูลไว้ 2 ชุด และจะแยกเก็บกันคนละที่ และก็อย่าลืม backup ข้อมูลระบบ cataglog ของ Lightroom ไว้ด้วยเช่นกัน
สำหรับตอนต่อไป ผมจะพูดถึงโปรแกรม Photo Raw 2018.5 ซึ่งเป็นโปรแกรมทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้ Adobe Lightroom  และ Photoshop ซึ่งคนที่เขาไม่ต้องการใช้ Lightroom เขาก็ย่อมมีเหตุผลของเขา แล้วเราจะมาพูดคุยกันในตอนต่อไป ซึ่งคลิกอ่านได้ใน ตอนที่ 3 ครับ