การตั้งค่าใช้งานกล้อง Olympus OM-D E-M1 Mark II

ถ้าใครใช้กล้อง Olympus OMD E-M1 Mark II คงทราบดีว่าเมนูของกล้องโอลิมปัสรุ่นนี้ มันช่างซับซ้อนและแยกย่อยเยอะแยะไปหมดจนอาจทำให้ผู้ใช้มึนงงและสับสนได้ ผมเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ประสบปัญหานี้ โดยเฉพาะการตั้งค่ากล้อง และปรับเปลี่ยนการตั้งค่าอยู่เสมอจนงงเองว่า เคยตั้งค่ากล้องใช้ปุ่มนั้นปุ่มนี้ มันจะทำงานอย่างนี้ ประกอบกับได้ใช้กล้องหลายตัวหลากยี่ห้อ จึงทำให้จำสับสนไปหมด ดังนั้น ผมจึงจัดทำโน้ตสั้นๆ ไม่กี่หน้าสำหรับตัวเอง เพื่อกันลืม ว่าเราได้ปรับแต่งกล้อง E-M1 Mark ii ของเราไปในรูปแบบใด กำหนดให้ปุ่มใดทำหน้าที่อะไรบ้าง ก็ช่วยได้ดีทีเดียว ผมจึงเลยหยิบเอาโน้ตการตั้งค่ากล้องโอลิมปัส E-M1 Mark II ของผมมาปรับปรุงให้คนอื่นได้อ่านด้วย เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย ผมเองไม่ใช่ช่างภาพอาชีพ เพียงแต่เป็นคนที่ชอบถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกหลังเกษียณอายุจากงานประจำแล้ว และเป็นแค่ user ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น
การตั้งค่ากล้อง E-M1 Mark II ผมไม่ได้ลงรายละเอียดทุกขั้นตอน เพียงแต่มันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการตั้งค่ากล้องเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดของเมนูและวิธีการตั้งค่าโดยละเอียด และวิธีใช้กล้องนั้น เขามีคู่มือให้มาอยู่แล้ว โปรดอ่านจากในคู่มือ ผมเขียนมาในเฉพาะส่วนที่เพื่อเตือนความจำของตัวเองเป็นหลัก และเพิ่มบางส่วนขึ้นมาเพื่อหวังให้ข้อเขียนนี้มีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้   นอกจากนี้ การถ่ายรูปของผมบันทึกเป็นไฟล์ Raw เกือบ 100%  จึงไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับการตั้งค่าเพื่อถ่ายเป็นไฟล์ Jpeg หรือ การถ่ายในโหมด iAUTO หรือโหมด ART แต่อย่างใด
            
เมนูการใช้งานของกล้อง E-M1 Mark II  แบ่งออกเป็นดังนี้
– Shooting Menu 1
– Shooting Menu 2
– Video Menu
– Playback Menu 
– Custom Menu
– Set up Menu

แผงควบคุมพิเศษ (Super Control Panel)
ผมอยากจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก่อนเป็นลำดับแรก คือ เรื่องแผงควบคุมพิเศษ (Super Control Panel) ซึ่งต่อจากนี้ไปจะเรียกสั้นๆ ว่า SCP จริงๆ แล้ว มันเหมือนกับเมนูลัดที่จะเข้าสู่การปรับตั้งค่ากล้องของเรา หรืออาจพูดได้ว่า  SCP มันคือ Super Menu เป็นเมนูลัดที่เราจะเข้าไปปรับเปลี่ยนตั้งค่าต่างๆ โดยไม่ต้องไปกดปุ่มเมนู อันนี้สำคัญ เพราะบางครั้งหรือบ่อยครั้ง จำไม่ได้ว่าจะปรับเปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้ จะต้องไปที่เมนูใด แต่เราเข้าไปปรับค่าต่างๆ ผ่าน SCP ทำได้เร็วกว่าผ่านเมนู แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า SCP มีทุกอย่างที่ปุ่มเมนูมี ไม่ใช่นะครับ มันมีเพียงการตั้งค่าหลักๆ ที่เราใช้กันบ่อยๆ จริงๆ ก็มีเยอะด้วย เช่น การปรับค่า ISO/White Balance /Flash/Image Stabilisation/Focus Area/ Picture Mode/Drive Mode  เป็นต้น 

จริงๆ แล้ว หากดูในคู่มือการใช้งานของโอลิมปัส จะเห็นว่า SCP มี 2 แบบ คือ  Live SCP ซึ่งเรียกใช้งานโดยการกดปุ่ม OK  และ SCP ซึ่งเรียกใช้งานโดยการกดปุ่ม Live View ที่อยู่ด้านซ้ายของกล้องข้างๆ  EVF (Electronic View Finder) หรือช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหน้าตามันก็เหมือนๆ กัน แบบฝาแฝด มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ดังรูป

                                         
 
ยังมีเมนูพิเศษตัวหนึ่ง คือ Live Control Panel (LCP) คุณสมบัติคล้ายๆ กับ SCP แต่รูปแบบการเข้าใช้งานต่างกัน ดังรูป
วิธีตั้งค่าเพื่อใช้หรือไม่ใช้งาน LCP คือ Custom Menu  —> D1 —> Control Settings —> เลือก iAUTO หรือ P/A/S/M หรือ ART ตามโหมดที่เราต้องการ–> คลิกเลือก  Live Control หรือ Live SCP

การปรับตั้งขนาดและคุณภาพของไฟล์ jpg

ตอนได้กล้องมาใหม่ๆ ผมสังเกตเห็นขนาดไฟล์ที่ใหญ่และดีสุดที่กล้องกำหนดให้ คือ  LF ซึ่งหมายถึง  Large size & fine JPG quality แต่ผมเห็นในเว็บหลายเว็บมีการพูดถึงการตั้งค่าไฟล์  JPG ที่ดีที่สุด คือ LSF ซึ่งหมายถึง  Large size & super fine JPG quality จึงค่อนข้างงงๆ ว่า ทำไมกล้องเรามันมีแค่ LF หรือกล้องมันรวนแล้ว  แต่ความจริงแล้ว เราต้องไปปรับการตั้งค่าไฟล์ JPG ให้เป็น LSF เอง โดยไปที่ Custom Menu –>G –> (Quality) Set –> LSF ใน Set ที่ 1 –> OK  

การใช้งานจากการ์ด 2 ช่อง  
เราจะกำหนดให้การบันทึกลงในการ์ดแต่ละช่องได้หลายแบบ แต่ผมเลือกใช้แบบ Down Dual Same  คือ ใช้บันทึกภาพในการ์ดทั้ง 2  ช่อง และบันทึกเป็นไฟล์ Raw เหมือนกันทั้ง 2 ช่อง และหากการ์ดในช่องใดเต็มก่อน จะบันทึกต่อไปไม่ได้ ต้องเปลี่ยนการ์ดใหม่  เหตุผลเพื่อ backup  ภาพที่ถ่ายไว้ เพราะเคยมีประสพการณ์อันเลวร้าย โดยเอาการ์ดที่ใช้ถ่ายภาพไปแล้วไป format แล้วถ่ายซ้ำ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อถ่ายภาพจนการ์ดเต็ม ผมจะกดล็อคที่ตัว SD Card ทุกครั้ง เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้มีการเอาไปถ่ายซ้ำ

วิธีการตั้งค่าการใช้งานจากการ์ด 2 ช่อง นั้น เรียกใช้งานผ่าน SCP สะดวกที่สุดแล้ว หรือถ้าจะผ่านเมนูก็ไปที่ Custom Menu –> H1 –> Card Slot Settings –> Save Settings –> Dual Same –> OK

อนึ่ง สำหรับไฟล์ VDO นั้น สามารถใช้การ์ดได้เพียงช่องเดียว และควรเลือกช่อง 1  เนื่องจากสามารถรองรับการ์ดแบบ UHS-II  ในขณะที่ช่อง 2 รองรับการ์ดแบบ UHS-I  โอลิมปัสน่าจะให้ช่อง 2 รองรับการ์ดแบบ UHS-II ไปด้วยเลย

การตั้งค่าในโหมด C1 C2 และ C3

ปุ่มหมุนปรับโหมดด้านบนตัวกล้อง จะมีปุ่ม C1 C2 และ C3 ให้หมุนเลือก ทำให้เราสามารถปรับแต่งลักษณะการใช้งานของแต่ละกลุ่มได้ โดยการปรับแต่งโหมดการใช้งานให้ตรงกับความต้องการของเราได้  ซึ่งเรียกว่า Custom Mode เช่น ปรับแต่งค่าต่างๆ สำหรับใช้ถ่าย Landscape ถ่าย Portrait  ถ่าย Action  ถ่าย Macro  ถ่ายนก ถ่ายสัตว์ป่า ถ่าย Street อะไรเหล่านี้เป็นต้น ก็แล้วแต่เราต้องการวิธีการกำหนดปุ่มหมุนปรับโหมด C1 C2 C3 

1.ก่อนอื่นควรหมุนปุ่มโหมดถ่ายภาพก่อนว่าต้องการใช้โหมดใดระหว่าง M, S, A, P (จะใช้โหมด  iAUTO หรือ  Art หรือ VDO ไม่ได้ครับ)  มิฉะนั้น ตั้งค่าแล้วจะมาปรับเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพภายหลังไม่ได้ ต้องตั้งค่ากันใหม่ 
2. กดปุ่ม OK ด้านหลังกล้องเพื่อเข้าสู่ Super Control
3. เลือกปรับตั้งค่าเอาตามใจชอบในแต่ละรายการที่ปรากฏใน  Super Control  
4. ค่าที่ตั้งตามข้อ 3 ยังไม่ได้บันทึกไว้ เพื่อบันทึกการตั้งค่า ให้ไปที่ Shooting Menu 1 —> Reset/Custom Modes —>  Assign to Custom Mode —> Custom Mode C1—>Set —>OK


ข้อสำคัญต้องคลิก OK เพื่อบันทึกการตั้งค่า ส่วนการกำหนดปรับแต่งในโหมด C2 และ C3  ก็ทำเหมือนขั้นตอนในข้อ 1-4 เพียงแต่ ตรง Custom Mode C1 ให้เปลี่ยนเป็น Custom Mode C2 และ C3 ตามลำดับส่วนตัวผม ก็ทำง่ายๆ ครับ  C1 ปรับ AF Mode  ให้เป็น C-AF+TR ไว้ใช้ถ่ายอะไรที่เคลื่อนไหว แล้วเรา tracking ตามได้ทันที  ส่วน C2 ปรับ AF Mode ให้เป็น MF  และ C3 ก็ปรับ AF Mode เป็น S-AF ไม่ใช้ Back Button Focus (ดูหัวข้อนี้ด้านล่าง) เพื่อให้สามารถใช้สายลั่นชัตเตอร์ยี่ห้อ SMDV ที่ผมมีอยู่ได้

การตั้งค่าเพื่อใช้ Back Button Focus

โดยที่ผมชอบใช้ Back Button Auto Focus จึงปรับตั้งค่าปุ่ม AEL/AFL หรือ Auto Exposure Locked/Auto Focus Locked (ดังภาพด่านล่าง) ซึ่งเป็นปุ่มเพื่อล็อคระดับแสงและเพื่อล็อคโฟกัส ให้มันทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ Auto Focus Locked แล้วยกเลิกการล็อคโฟกัสที่ปุ่มชัตเตอร์เมื่อกดลงครึ่งหนึ่งเสีย ปุ่มชัตเตอร์ก็จะทำหน้าที่เพียง 2 อย่าง คือ เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง จะเป็นการล็อคแสง (exposure) และกดปุ่มชัตเตอร์ลงให้สุดเพื่อลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพ

Back Button Focus มันดีอย่างไรหรือ มันดีสิครับ ลองใช้แล้วอาจติดใจ ข้อดี ใช้นิ้วหัวแม่มือกดทีเดียวเพื่อล็อคโฟกัส จะ recompose ภาพที่จะถ่ายใหม่  ก็ไม่ต้องกดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งค้างไว้ให้เมื่อยนิ้วชี้ หรือหากเราต้องการถ่ายภาพต่อเนื่องภาพที่ subject มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ใช้โหมด C-AF  เราก็กดปุ่มล็อคโฟกัสค้างไว้ แล้วกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปตลอดระยะเวลาที่ subject เคลื่อนไหว ถ้า subject หยุดเคลื่อนไหว เราก็ละนิ้วหัวแม่โป้งจากปุ่ม AEL/AFL แล้วก็ถ่าย subject ได้ต่อไปโดยไม่ต้องโฟกัสอีกครั้ง เพราะโฟกัสถูกล็อคไว้แล้ว พูดอีกนัยหนึ่ง คือ การจับปุ่มโฟกัสกับปุ่มชัตเตอร์แยกออกจากกันเสีย 

วิธีตั้งค่าสำหรับโหมดโฟกัสทั้ง 3 โหมด คือ  S-AF/C-AF/MF
Custom Menu —>A1 —> AEL/AFL—> S-AF—>mode 3
Custom Menu —>A1 —> AEL/AFL—> C-AF—>mode 3
Custom Menu —>A1 —> AEL/AFL—> MF—>mode 3
การใช้งานปุ่ม Fn   

E-M1 Mark II  มีปุ่ม Fn  หรือปุ่ม Function มาให้ 2 ปุ่ม อยู่ที่ด้านหลังกล้องตรงมุมขวาและบนตัวตัวกล้องด้านขวา หลังปุ่มชัตเตอร์ (ดังภาพข้างล่าง ปุ่ม Fn อยู่ในวงกลมสีแดง) เราสามารถปรับแต่งให้ใช้งานได้หลายหลาย วิธีการปรับแต่งปุ่มต่างๆ นี่ ให้นึกถึงคำว่า Button ไว้ก่อนเลย ซึ่งมันจะอยู่ใน Custom Menu แล้วเลือก B ก็จะพบกับการปรับแต่ง Button ต่างๆ ที่กล้องมี
สำหรับการกำหนดค่าปุ่ม Fn ทำดังนี้
Custom Menu – ->  B- – > Button Function – -> Fn1 – -> ปรับค่าตามต้องการ   เช่น ปรับปุ่ม  Fn1 ให้ใช้งาน AF Area Select หรือการเลือกจุดโฟกัสว่าจะเป็นแบบจุดเดียว 5 จุด  9 จุด หรือทั้ง 121 จุด  ส่วนตัวผมนั้น ปรับปุ่ม Fn1 ให้เป็น Peaking

สำหรับปุ่ม  Fn2  อาจกำหนดให้เป็น Multi Fuction  วิธีตั้งค่า Custom Menu – ->  B- – > Button Function – -> Fn2 – -> Multi Function ซึ่งผมก็เลือกตั้งค่าแบบนี้
Multi Function  มันดีอย่างไร ดีตรงสามารถเปลี่ยนฟังก์ชั่นของกล้องได้ถึง 8 ฟังก์ชั่นได้โดยไม่ต้องเข้าไปที่เมนู เพียงแต่กดปุ่ม Fn2 ค้างไว้  แล้วหมุนปุ่มหมุนด้านหลัง (Rear dial)  เพื่อเลือกฟังก์ชั่นเหล่านี้ คือ 1. Highlight/Shadow Control  2. Color Creator  3. ISO/WB  4. WB/ISO  5. Magnify   6. Image Aspect  7. S-OVF  8. Peaking  เมื่อเลือกใช้งานฟังก์ชั่นใดฟังก์ชั่นหนึ่งแล้ว เวลาจะใช้งานฟังก์ชั่นนั้น ก็กดไปที่ปุ่ม Fn2 เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่แล้ว ผมจะเลือกฟังก์ชั่น  Magnify เป็นหลัก เพราะสายตาไม่ค่อยดีแล้ว
การใช้งานปุ่มถ่ายภาพต่อเนื่อง/ตั้งเวลา/HDR และปุ่ม AF/วัดแสง 
ปุ่มถ่ายภาพต่อเนื่อง/ตั้งเวลา/HDR และปุ่ม AF/โหมดวัดแสง ที่อยู่บนกล้องด้านซ้ายมือ เป็นปุ่มเดียวที่ใช้งานได้หลากหลายมาก  ผมไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร มันชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ปุ่มนี้มันจะทำหน้าที่อะไร ก็ไม่ไปปรับเปลี่ยนให้งงเล่น  เพียงแต่ใน Drive Mode หรือโหมดการถ่ายที่เราจะเลือกว่าต้องการใช้แบบไหน แบบ Single  แบบ Anti-Shock  แบบ Silent  หรือ แบบถ่ายภาพต่อเนื่องนั้น มันมีตัวเลือกมากมายกว่าจะหมุนเลือกได้มันค่อนข้างเสียเวลา  ซึ่งสามารถกำหนดให้ตัวเลือกให้มันน้อยลงได้  โดยไปที่ Custom Menu –> D1 –>  Sequential/Timer  Settings แล้วกดปุ่มคลิกเลือก/ไม่เลือก Drive Mode ใด้ตามใจชอบ


ตัวช่วยในการใช้งาน Manual Focus
ในการใช้งาน Manual Focus  หรือในการถ่าย Macro ซึ่งปกติเราก็ใช้ Manual Focus กันอยู่แล้ว ตัวช่วยที่จะมาช่วยเรา คือ การขยายภาพ เราสามารถตั้งค่ากล้องของเราให้มีการขยายภาพโดยอัตโนมัติในขณะที่เริ่มหมุนแหวนปรับโฟกัสของเลนส์ในโหมด MF   โดยตั้งค่าที่ Custom Menu –> A4 –> MF Assist –> Magnify –> On –> OK  พร้อมนี้ก็สามารถใช้ฟังก์ชั่น Focus Peaking ได้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าโฟกัสเข้า โดยตั้งค่าที่ Custom Menu –> A4 –> MF Assist –>  Focus Peaking –> On –> OK  


ใช้จอ Touch screen  ให้เป็นประโยชน์
กล้อง  E-M1 Mark II ของเรา เป็นจอ Touch screen ครับ เพียงแต่มันไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100%   สามารถใช้ Touch screen ในบางฟังก์ชันเท่านั้น และก็ไม่ได้ลื่นเหมือน Touch Screen ของโทรศัพท์มือถือ Touch screen ของกล้องทำงานได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

– ใช้กดเลือกการตั้งค่าต่างๆผ่าน SCP ซึ่งเราสามารถตั้งค่าฟังก์ชั่นต่างๆ ในการถ่ายภาพผ่านหน้าจอที่ Super Control Panel   โดยเลือกกดจิ้มไปที่หน้าจอ แล้วกดติดๆ กัน 2 ครั้งแบบ double tap เพื่อเลือกตั้งค่าได้เลย  แต่ที่ง่ายกว่า คือ ไปแตะที่ค่าตั้งกล้องใน SCP ให้ค่านั้นปรากฏเป็น highlight สีเหลือง แล้วหมุนปุ่ม Dial  ด้านหน้าปรับค่าได้ทันที สะดวกมากครับ ลองดูได้


 – Playback  เมื่อถ่ายภาพแล้ว เรากดปุ่ม Playback  เพื่อดูภาพ เราสามารถใช้นิ้วแตะไปที่จอ 2 ครั้งติดๆ กัน (double tap) ภาพที่เราถ่ายจะถูกขยายขึ้น หากต้องการให้ภาพขยายมากกว่านั้น ก็ใช้นิ้วเลื่อนที่ขอบภาพด้านขวาที่มีตัวเลื่อนอยู่ โดยเลื่อนขึ้นด้านบนเพื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นได้ ถ้าต้องการให้ภาพกลับไปเต็มจอตามเดิม ก็ double tap อีกครั้งหนึ่ง หากจะดูรูปต่อไป ก็ใช้นิ้วแตะจอแล้วเลื่อนไปทางซ้าย/ขวา ได้แบบเดียวกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมสักนิดเกี่ยวกับการใช้จอ Touch Screen  ช่วยในการถ่ายภาพ  คนอื่นอาจไม่งง แต่ผมยอมรับว่าแรกๆ งงมาก เนื่องจาก icon ของ Touch Screen มันจะมีการทำงานหลายแบบซ้อนกันอยู่  โปรดสังเกตสถานะของ  icon ตรงมุมซ้ายด่านล่างของจอภาพ พูดง่ายๆ  icon มี 4 สถานะ คือ  
1. จอ Touch Screen ไม่ทำงาน
2. แตะเพื่อโฟกัส
3. แตะเพื่อปิดการทำหน้าที่ของ icon สถานะที่ 2
4.  แตะเพื่อโฟกัสพร้อมกับการถ่ายภาพผ่าน Touch Screen


การแตะเพื่อโฟกัส  icon สถานะที่ 2 มีการทำงานถึง 3 แบบ ซ้อนกันอยู่ คือ แบบแรก แตะเพื่อโฟกัสแล้วกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพได้ทันที แบบที่สอง แตะเพื่อโฟกัสแล้วสามารถใช้นิ้วลากไปยังจุดอื่น แล้วแตะซ้ำอีกครั้งเพื่อโฟกัส หรือไม่ต้องการลาก ก็จิ้มไปยังจุดโฟกัสใหม่ได้ และกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ  และแบบที่สาม แตะภาพแล้วขยายภาพจุดที่โฟกัส การขยายภาพต้องแตะที่ icon แว่นขยายตรงมุมล่างด้านขวาขอจอภาพ   ถ้าจะเข้าไปสู่ icon สถานะที่ 4  ต้องแตะ icon สถานะที่ 3 ก่อน เพื่อปิดการทำหน้าที่ของ icon สถานะที่ 2  แต่ถ้าประสงค์จะใช้ icon สถานะที่ 4 ทันทีโดย bypass  icon สถานะที่ 2-3 ก็เพียงแค่แตะจิ้ม icon ไปเรื่อยจนกระทั่ง icon สถานะที่ 4 แสดงขึ้นมา เราก็แตะเพื่อโฟกัสพร้อมกับถ่ายภาพผ่านหน้าจอได้ทันทีในจังหวะเดียวกัน


 – ส่วนการถ่ายวีดีโอนั้น icon สถานะที่ 4 จะไม่แสดง เราใช้ icon สถานะที่ 2 เพื่อกำหนดจุดที่เราต้องการโฟกัสในจอได้ทันที


– นอกจากนี้ ใช้เป็นเสมือน mouse เลื่อนหาจุดโฟกัสก็ได้ คือ ในกรณีที่เราจะถ่ายภาพโดยเล็งสายตาผ่าน EVF ในขณะเดียวกันก็ใช้นิ้วหัวแม่ขวาเลื่อนหาจุดโฟกัสบนจอ LCD ก็นับว่าสะดวกดี  (ระวังนิ้วโป้งจิ้มตา)  โดยให้ icon อยู่ในสถานะที่ 2  และต้องไปตั้งค่าที่ Custom Menu –> A2 –> AF Targeting Pad –> On –> OK  ถ้ามันไม่ทำงาน ให้เช็คดูว่าเราเผลอไปปิดฟังก์ชั่น  Touch Screen หรือเปล่า  ไปดูที่   Custom Menu –> J1 –> Touch Screen Settings –> On –>OK


กดปุ่ม OK ค้างไว้เพื่อกลับสู่สถานะเดิม

อันนี้ผมชอบมาก คือ การกดปุ่ม OK ค้างไว้เพื่อกลับสู่สถานะเดิม เขียนให้เข้าใจค่อนข้างยากนิดหนึ่ง ลองไปดูตรงนี้ก่อน การตั้งค่าเพื่อกดปุ่ม OK ค้างไว้นานแค่ไหนเพื่อจะกลับสู่สถานะเดิม ไปที่ Custom Menu –> J1 –> Press-and-hold Time –>  การคืนค่าต่างๆ –> เลือกระยะเวลา –> OK

ลองดูค่าต่างๆ ที่สามารถคืนกลับสู่สถานะเดิมได้ เช่น  การขยายภาพใน Live View  กดปุ่ม OK ค้างไว้ตามเวลาที่เลือกไว้  เช่น 0.7 วินาที ภาพก็จะคืนสู่สถานะเดิม  ชดเชยแสงไป +/- เท่าไหร่ กดปุ่ม OK  ค้างไว้ ค่าการชดเชยแสงจะกลับสู่สถานะเดิม คือ ที่ 0.0

ภาพข้างล่างนี้ คือ ค่าต่างๆ ของกล้องที่เราสามารถใช้การกดปุ่ม OK ค้างไว้ เพื่อให้ค่ากลับสู่สถานะเดิมได้


สายลั่น Shutter
การใช้สายลั่น  Shuttter  ผมไม่ได้ใช้ของโอลิมปัสมี แต่พอดีผมมีสายลั่น Shutter ของ SMDV ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของเกาหลีอยู่ คือ รุ่น RF-905  สำหรับกล้อง Canon ซึ่งประกอบด้วยตัว Receiver ( RFN4 RX)  ซึ่งนอกเหนือจากเป็นตัวรับสัญญาแบบ wireless จากตัว Transmitter  (RFN4 TX) แล้ว ยังสามารถใช้เป็นสายลั่นธรรมดาได้ด้วย   SMDV RF-905 สำหรับกล้อง Canon ที่บังเอิญนำมาใช้กับ E-M1 Mark II  ได้ ก็เพราะมันมี port ที่เสียบสายลั่นชัตเตอร์แบบเดียวกัน ในขณะที่รุ่น RF-902 ซึ่งเป็นสายลั่นชัตเตอร์สำหรับกล้องโอลิมปัสโดยตรงนั้น กลับไม่สามารถนำมาใช้กับ E-M1 Mark II ได้


สรุปว่า มันทำงานได้ปกติ  ไม่ว่าทำงานแบบสายลั่นธรรมดา (wired)  โดยกดปุ่มลั่นชัตเตอร์ที่ตัว Receiver  หรือทำงานแบบไร้สาย (wireless) โดยกดปุ่มลั่นชัตเตอร์จากตัว Transmitter   สามารถกดปุ่มค้างไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อให้กล้องโฟกัส แล้วกดปุ่มให้สุดเพื่อถ่ายภาพ


ข้อจำกัดมีนิดหนึ่งครับ ถ้าเราตั้งกล้องให้ใช้ Back Button Focus สายลั่นชัตเตอร์รุ่นนี้จะไม่สามารถโฟกัสเองได้  ซึ่งเวลาผมจะใช้สายลั่นชัตเตอร์รุ่นนี้ ผมก็ต้องไปปรับกล้องให้ใช้ปุ่มชัตเตอร์ล็อคโฟกัสตามปกติไป โดยเพียงแค่หมุนโหมด Dial ไปที่ C3 ซึ่งผมได้ตั้งค่าในกล้องของผมไว้แล้วสำหรับใช้กับสายลั่นชัตเตอร์

ถ้าใครไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็ไม่ต้องเสียใจหรอกครับ เพราะสามารถใช้แอพ Olympus Image Share จากมือถือ โดยใช้ฟีเจอร์ Remote Control ของแอพตัวนี้ได้ เรียกว่าไม่ต้องเสียเงินก็ใช้งาน Remote Control เพื่อลั่นชัตเตอร์ได้ 

การใช้งานกับ L-Plate หรือ L-Bracket 
L-Plate หรือ L-Bracket  คืออะไร มันคือ Plate ที่ใช้ติดใต้ฐานกล้องและด้านข้างของกล้อง มีลักษณะเป็นรูปตัว L  เมื่อติดเข้ากับกล้องแล้ว ทำให้สามารถติดตั้งกล้องไว้บนขาตั้งกล้อง (Tripod) ได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ปกติ L-Plate ใช้สำหรับขาตั้งกล้องที่มี plate แบบ Arca-Swiss  ซึ่งจะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะการถ่ายภาพ Landscape บางท่านอาจมีความเห็นว่า การใช้ขาตั้งกล้องแบบหัวบอล มันก็สามารถใช้ถ่ายภาพจากการวางกล้องในแนวตั้งได้อยู่แล้ว โดยการบิดหัวบอลลงให้กล้องอยู่ในลักษณะแนวตั้ง  ก็จริงอยู่ครับ ทำได้ แต่การใช้ L-Plate มันก็มีข้อดีตรงความสมดุลย์หรือ  balance มันดีกว่า ขาตั้งกล้องแข็งแรงอันใหญ่ๆ หนักๆ มันทำได้ดี balance ดีอยู่แล้ว ไม่มีผลอะไร แต่ขาตั้งกล้องเบาๆ แบบใช้สำหรับเดินทาง อาจมีปัญหาการสั่นไหว หรือ balance ไม่ดี หากใช้กล้องถ่ายภาพแนวตั้ง โดยเฉพาะกล้องใหญ่ๆ ที่ใช้เลนส์หนักๆ แบบทั้งยาวทั้งใหญ่  L-Plate สามารถแก้ปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ การมี L-Plate ติดอยู่ใต้ฐานกล้องยังช่วยป้องกันรอยขีดข่วนใต้กล้องได้ด้วย และในความเห็นส่วนตัว มันช่วยให้การจับถือถนัดมือด้วยสิ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายวีดีโอ เพราะมันเหมือนมี grip เล็กๆอยู่ที่ด้านซ้ายของตัวกล้องด้วย


L-Plate หรือ L-Bracket สำหรับ  E-M1 Mark II ในท้องตลาดนั้น มีไม่กี่ยี่ห้อที่ทำออกมาขาย   L-Plate ราคาถูกที่ไม่มียี่ห้อ โดยเฉพาะของจีน ผมค้นหาในเว็บก็ไม่มี ในไทยก็ไม่เห็นมีที่ไหนเขาขายกัน ที่มีขายก็ในต่างประเทศมี 3 ยี่ห้อ คือ Really Right Stuff  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า สินค้าของยี่ห้อนี้แพงสุดๆ  ขายในราคา $180  อีกยี่ห้อก็ คือ Kirk  แพงรองลงมา ขายในราคา $110  และสุดท้ายคือ ProMaster ถูกสุดแล้ว ราคา $60  สินค้าตัวนี้เพิ่งวางขายในสหรัฐอมริกา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561  หลังจากที่ E-M1 Mark II เปิดตัวมาเป็นปีแล้ว (ความรู้สึกช้าจัง) ผมเองได้สั่งซื้อของยี่ห้อ ProMaser แล้ว และหลังจากได้ของมา ผมก็ได้เขียนรีวิวไว้แล้วที่บทความนี้ครับ
 
 

(updated: September 8, 2019)